เบ็ดนางรำ เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดตกเบ็ด ใช้ตามวังน้ำ วังน้ำวน หรือวังน้ำลึก
เบ็ดนางรำมีอีกชื่อคือ หยกมาด เพราะลักษณะการใช้งานคือการนั่งเรือมาดไปตามแหล่งน้ำ แล้วยกเบ็ดขึ้นลง ซึ่งชาวบ้านออกเสียงคำว่า “ยก” เป็น “หยก” จึงเรียก “หยกมาด”
วัสดุประกอบด้วย เบ็ดเบอร์ ๑๐ สี่ตัว เส้นเอ็นหรือด้ายเหนียว และวัสดุพิเศษเพื่อนำมาทำเป็นตัวปลาประดิษฐ์ เช่น ตะกั่ว ดีบุก หรือทองเหลือง และเขาควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๑-๐.๒ ซม. ยาว ๑๐ ซม.
นำวัสดุพิเศษ มาขัดแต่งให้มีรูปร่างเหมือนปลา จากนั้นนำเขาควายเผือกสองเส้นเสียบโคนหางในลักษณะกากบาท มัดตัวเบ็ดทั้งสี่ตัวติดกับปลายของเขาควายเผือก ส่วนปลายหางให้ร้อยด้วยเอ็นหรือด้ายเหนียวยาว ๆ เป็นสายเบ็ด โดยพันกับกระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋อง
วิธีใช้ขณะอยู่บนเรือคือ ใช้มือจับสายเบ็ด แล้วหย่อนเบ็ดลงน้ำ ให้ลึกพอสมควร แล้วจึงยกขึ้นลง ให้ปลาประดิษฐ์ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว เพราะธรรมชาติของปลาจะตอบสนองกับสิ่งเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เมื่อปลาฮุบเหยื่อก็จะถูกเบ็ดเกี่ยวไว้ทันที
อีกวิธีหนึ่งคือ การผูกเบ็ดกับคันเบ็ดไม้ไผ่ที่มีความยาวเหมาะสม ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งเรือ ชาวบ้านยืนริมน้ำจับปลาได้เลย ปลาที่จับได้ส่วนมากคือ ปลาเบี้ยว มีสีขาวเหลือบเงิน ไม่มีเกล็ด มักนำมาทำแกงกะทิ
เหตุที่เรียกว่า เบ็ดนางรำเพราะว่าเขาควายเผือกเส้นบาง ๆ นั้น เมื่ออยู่ในน้ำจะพลิ้วไหวไปมาดุจลีลาของ “นางรำ” นั่นเอง
เบ็ดนางรำ
อัพเดตเมื่อ 24 เม.ย. 2564
คำอธิบาย