“บ๊อก บ๊อก บ๊อก” คือเสียงของปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากด ปลาสร้อย ปลาแขยง ปลาดุก หรือปลาช่อน ที่กำลังเล่นน้ำอยู่ ซึ่งตามธรรมชาติเมื่อปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาชะโด ปลาค้าว ได้ยินเสียงนี้ จะรีบไล่ฮุบปลาขนาดเล็กเหล่านี้ทันที
ด้วยเหตุนี้ คนสมัยก่อนจึงคิดค้นเครื่องมือจับปลาโดยการเลียนเสียง “บ๊อก บ๊อก บ๊อก” เพื่อล่อให้ปลาติดเบ็ด เราเรียกอุปกรณ์นี้ว่า “เบ็ดไอ้บ๊อก”
วัสดุที่ใช้ทำเบ็ดไอ้บ๊อกประกอบด้วย เบ็ด ๕-๖ ตัว เชือก วงแหวนโลหะ แผ่นโลหะ เช่น อลูมิเนียมหรือสังกะสี และชัน โดยเริ่มจากการทำแผ่นโลหะให้เป็นใบพัดแล้วพับโคนด้านล่างลง ให้มีระยะห่าง ๐.๕ เซนติเมตร แล้วเจาะรูโคนส่วนบนและล่างเพื่อร้อยเชือก ส่วนเบ็ดให้มัดกับเชือก เว้นระยะสั้นยาวลดหลั่นกันไป
นำเบ็ดที่ผูกเชือกแล้วมามัดรวมกัน ซึ่งขั้นตอนนี้เบ็ดจะสูงต่ำไม่เท่ากัน ทั้งนี้ให้เว้นที่ว่างเหนือเบ็ดตัวบนสุดไว้ราวสองเซนติเมตร เพื่อโปะชันหรือยางเหนียว เป็นการผสานสายเบ็ดเข้าด้วยกัน จากนั้นให้ร้อยวงแหวนโลหะตามด้วยใบพัด เป็นอันเสร็จ
เมื่อจะนำไปใช้งาน ต้องต่อเชือกเส้นยาวเข้ากับเบ็ดไอ้บ๊อกอีกทีหนึ่ง โดยเชือกที่นำมาต่อ มีความยาวตั้งแต่ ๕๐-๑๐๐ เมตร จากนั้นจึงขว้างเบ็ดลงน้ำ แล้วลากเบ็ดทวนน้ำ เมื่อใบพัดปะทะกระแสน้ำ จะมีเสียงดัง “บ๊อก บ๊อก บ๊อก” ล่อให้ปลามาติดเบ็ด เบ็ดที่อยู่ใกล้ใบพัดจะเกี่ยวเหงือก ส่วนเบ็ดที่อยู่ลำดับถัดไปจะเกี่ยวตามลำตัวภายใน ทำให้ปลามีโอกาสหลุดน้อยมาก เมื่อปลาติดเบ็ดแล้ว ชาวบ้านจะสาวเบ็ดเข้ามาเพื่อปลดปลาออก ก่อนจะเริ่มขั้นตอนเดิมเพื่อจับปลาต่อไป
ทั้งนี้ วัสดุที่ใช้ทำใบพัด นอกจากโลหะแล้ว ยังมีการใช้ไม้สัก ไม้ประดู่ หรือไม้แดง ด้วย และมีการพัฒนามาใช้เชือกไนลอนแทนวัสดุธรรมชาติเพราะทนทานกว่าและคลี่ง่าย และเราจะสังเกตได้ว่า “ชัน” ที่โปะอยู่ นอกจากจะรวมสายเบ็ดเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ใบพัดตีสายเบ็ดขาด และวงแหวนที่อยู่ระหว่างชันกับใบพัดก็คอยรับน้ำหนัก ไม่ให้ใบพัดตีจนชันแตกเช่นกัน สำหรับบางคน จะใช้ไม้ไผ่ตัดเป็นข้อสั้นรวมเบ็ดแทนชันเพื่อทุ่นเวลา โดยเมื่อไม่ใช้งาน ชาวบ้านจะแขวนเบ็ดไอ้บ๊อกไว้ตามที่สูงหรือห้อยไว้ในกระบอกไม้ไผ่