ครืนเป็นบ่วงสำหรับดักไก่ป่าหรือนำไปดักนกก็ได้ ครืน 1 ชุดเรียกว่า 1 ปาก จะมีบ่วงที่เชื่อมโยงติดต่อกันประมาณ 10-20 บ่วง บ่วงหนึ่งๆ ดักไก่ได้ 1 ตัว ดังนั้น การใช้ครืนในคราวหนึ่งๆ จะสามารถดักไก่ได้หลายตัว เมื่อใช้งานครืนจะครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เมื่อคลี่ครืนออกใช้งาน ครืน 1 ชุดจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า 3-4 เมตร บางชุดอาจจะมีความยาวนับสิบๆ เมตร
วัสดุที่ใช้ทำครืน ได้แก่ ไม้ไผ่ เชือก ส่วนสำคัญคือส่วนของบ่วงต้องใช้วัสดุที่ลื่นและเหนียว เช่น ขนหางม้า ขนหางช้าง ขนแผงหลังหมูป่าหรือหวาย เหลาจนเป็นเส้นเล็กๆ บางๆ วิธีทำครืนเริ่มจากเหลาไม้ไผ่เป็นซี่เล็กๆ มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เสี้ยมโคนให้แหลมสำหรับปักดิน ส่วนปลายดัดให้โค้งงอ ตรงปลายบากไว้เพื่อใช้มัดเชือกเส้นเล็กๆ ทำเป็นหูรูดเชื่อมโยงกับส่วนบ่วงที่ทำจากขนหางม้าหรือวัสดุอื่นๆ ดังกล่าว เป็นการทำบ่วง 1 บ่วง ถ้าต้องการบ่วงกี่บ่วงก็ทำเพิ่มเท่าที่ต้องการ บ่วงทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันโดยใช้เชือกเส้นหนาๆ ผูกติดคันไม้ไผ่ของแต่ละบ่วงไว้ กะระยะให้ห่างเท่าๆ กัน เวลาที่ยังไม่ใช้งานหรือเวลายกย้ายจะพันครืนไว้กับกระบอกไม้ไผ่ เพื่อยกหยิบใช้ได้สะดวก เชื่อกก็จะไม่พันกัน
เวลาใช้งาน นำคันไม้ของแต่ละบ่วงปักดินห่างกันประมาณครึ่งเมตร เมื่อปักทั้งหมดแล้วบ่วงจะเรียงเป็นแถวเป็นแนวไป ที่ปลายเชือกเส้นหนาให้มัดไว้กับหลักไม้ พุ่มไม้ ควรขึงครืนให้แล้วเสร็จก่อนเวลาไก่ป่าออกหากิน คือช่วงเช้ากับช่วงเย็นตามบริเวณที่สังเกตเห็นสัตว์ออกหากินประจำหรือบริเวณที่เห็นรอยตีน รอยคุ้ยเขี่ยหรือบริเวณที่มีมูลใหม่ๆ การปักเครื่องมือในทำเลประจำหรือปักขวางทางทำให้ได้ไก่ป่าแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก็อาจโรยข้าวเปลือกนำทางสัตว์มาจนถึงเครื่องมือก็ได้ เป็นวิธีกระตุ้นให้ไก่มาติดเครื่องมือเร็วขึ้น เมื่อไก่ตัวหนึ่งติดบ่วง ไก่ในฝูงตัวอื่นๆ ก็จะตามมาติดด้วย การขยับหัวยืดคอจิกอาหารซึ่งเป็นธรรมชาติของไก่ คือการสอดคอเข้าไปในบ่วง ส่วนตีนที่ยืดออกแล้วคุ้ยเขี่ยดินถี่ๆ ก็คือการสอดตีนเข้าไปในบ่วง เมื่อกระชากกลับ บ่วงจึงถูกดึงรัดแน่นยิ่งขึ้น
การดักไก่คราวละหลายๆ ตัว มักดักเพื่อทำกิน แต่ถ้าเพิ่มเทคนิคเฉพาะก็มักดักเพื่อเลี้ยงดู ทำพันธุ์ หรือมีเป้าหมายเฉพาะ ช่วงเวลาที่ดักไก่ได้ผลดีมักเป็นช่วงหน้าแล้งกับหน้าหนาว ซึ่งป่าไม่รกไม่ชื้นแฉะ ช่วงหน้าแล้งไก่มักลงมากินน้ำตามชายน้ำ โดยมักอยู่ตามซอกหิน ถ้านำเครื่องมือมาดักแถวนี้ก็มักได้ไก่จำนวนมาก แต่ถ้าดักช่วงฤดูหนาว มักได้ไก่ตัวผู้ตัวใหญ่วัยเจริญพันธุ์ เพราะเป็นช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งจะใช้ไก่ตัวเมีย "ต่อ" หรือ "ล่อ" ตัวผู้ หรือหากไม่ใช้ไก่ตัวเมียเป็นนกต่อ ก็อาจประดิษฐ์เครื่องมือเป่าเพื่อเลียนเสียงไก่ตัวเมีย ดังเช่นการใช้ตอด จะเป็นการเรียกไก่ตัวผู้ในช่วงหน้าหนาวที่ไก่ติดสัด นอกจากนี้ยังมีการใช้ไก่ต่อได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องฤดูการ คือการใช้ไก่ตัวผู้ หรือตอดเป่าเสียงตัวผู้ เพื่อล่อไก่ตัวผู้ซึ่งมักเป็นตัวจ่าฝูงเข้าใกล้ อธิบายกันว่า ไก่ตัวผู้จะป้องกันอาณาเขตของตัว และป้องกันบริวารลูกเมียในกลุ่มด้วย เมื่อถูกรุกราน ไก่ตัวผู้จะปรี่ออกมาจากกลุ่ม นักต่อไก่จึงจับไก่ระดับจ่าฝูงซึ่งดุ เปลี่ยว ได้จากการแสดงตัวของไก่เอง นำไก่ป่าจ่าฝูงผสมพันธุ์กับไก่บ้านตัวเมีย มักได้ไก่รุ่นใหม่ที่แข็งแรงอดทน มีสายเลือดนักสู้อย่างไก่ป่า กลายเป็นไก่ชนจากเทคนิคผสมพันธุ์ที่รู้เห็นกันน้อยคน