เบ็ดดักตุ่นเป็นเครื่องมือดักตัวตุ่นได้คราวละตัว เป็นเครื่องมือที่แข็งแรงที่ตุ่นไม่สามารถกัดได้ วัสดุที่นำมาทำเป็นเบ็ดดักตุ่น ได้แก่ แกนไม้ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เบ็ดเบอร์ 16 ประมาณ 30 ตัว และลวด โดยนำเบ็ดมาวางทาบรอบแกนไม้ ใช้ลวดพันโคนเบ็ดกับแกนไม้ให้แน่น ที่ปลายไม้ใช้ลวดทำเป็นห่วงให้มีขนาดพอใช้นิ้วมือลอดได้สำหรับเชือก แล้วนำเชือกไปมัดกับต้นไม้ใกล้ๆ หรือใช้หลักขอเสียบวางไว้บนดิน ป้องกันเบ็ดร่วงลงไปในรูเมื่อตุ่นมาติดเบ็ดและพยายามดิ้นรนหนี หรืออีกรูปแบบหนึ่งจะมีรูปแบบคล้ายสาแหรก โดยจะใช้ลวด 4 เส้น รวบปลายด้านหนึ่งเข้าด้วยกัน ใช้เชือกมัดหรือทำเป็นห่วงเหมือนเบ็ดดักตุ่นแบบแรก ลวดแต่ละเส้นมัดเบ็ดไว้เป็นระยะ นำไปใช้งานด้วยการคุ้ยดินขุดดินปากรูตุ่น แล้วจึงนำเบ็ดไป "ยอน" หรือวางค้างไว้ปากรู เมื่อมัดเชือกหรือขัดหลักขอแล้วผู้ดักจะไปหลบ เมื่อตุ่นเห็นแสงสว่างสาดเข้าไปในรูก็จะขึ้นมาเพื่อกลบดินปิดปากหลุม เมื่อขึ้นมาได้ระยะหนึ่งตัวตุ่นก็จะถูกเบ็ดเกี่ยว ยิ่งขยับตัวดิ้นหนีก็จะยิ่งถูกเบ็ดเกี่ยวมากขึ้น หากทิ้งน้ำหนักตัวลงเบ็ดยิ่งเกี่ยวตัวตุ่นยิ่งขึ้นอีก เมื่อตัวตุ่นขยับตัวจะทำให้เบ็ดเคลื่อนไหว ผู้ดักจะสามารถสังเกตได้ว่าเชือกหรือหลักขอจะขยับแบบกระตุกๆ รอสักครู่จึงไปปลดตัวตุ่นออกจากเครื่องมือ แต่หากทิ้งช่วงนานเกินไปจนตัวตุ่นตายจะได้เนื้อตุ่นที่มีกลิ่น ไม่สด สาเหตุที่ต้องประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับดักตัวตุ่นโดยเฉพาะเนื่องจากตัวตุ่นมีฟันหน้าซี่ใหญ่ สามารถกัดวัสดุธรรมชาติได้ทุกชนิด เครื่องมือชนิดอื่นเช่นแร้วหรือด้วงที่ใช้ดักหนูจึงใช้กับตุ่นได้ไม่ดี
ตัวตุ่นนั้นสามารถนำมากินได้ เนื้อตุ่นมีรสชาติคล้ายกับหนูนาแต่จะมีความมันกว่า นิยมนำมาปิ้ง ย่าง ทำแกง คั่วแห้งเนื้อตุ่นจัดว่าเป็นเนื้อสัตว์ในมื้อพิเศษเพราะต้องใช้ความตั้งใจจับจึงจะได้กิน เนื่องจากตัวตุ่นไม่อยู่ในทำเลที่มีคน จะอยู่อาศัยตามชายป่า ชายเขา ลาดเขา โดยธรรมชาติตัวตุ่นจะขุดรูอยู่ในที่ลุ่มชื้น ชาวบ้านสังเกตได้ว่าตุ่นไม่ชอบแสงสว่าง จึงใช้ความเข้าใจนี้เป็นหลักการดักตุ่นด้วยเบ็ดดักตุ่น แหล่งอาหารของตุ่นได้แก่ หญ้าคา แฝกที่แตกใหญ่ ข้าวโพดอ่อน รากไม้ แห้ว หัวมันนานาชนิด เช่น มันนก มันเหลือง มันเทียม มันกระจาด มันเสา มันป่า รวมถึงไผ่อย่างไผ่ป่า ไผ่รวก บริเวณที่มีพืชผลเหล่านี้จึงเป็นที่อยู่ของตุ่น โดยชาวบ้านจะเลือกดักตุ่นในบริเวณที่เป็นแหล่งอาหารดังกล่าวหรือดูร่องรอยอื่นๆ ของตุ่นประกอบเนื่องจากตุ่นจะทิ้งข้อไผ่กับทำขุยดิน
การทิ้งข้อไผ่คือ เมื่อตุ่นกินไผ่จะ "ทอน" หรือกัดเนื้อของลำข้อเป็นชิ้นๆ แต่ทิ้งข้อไผ่ไว้ ตามข้อไผ่จะมีรอยฟันซี่ใหญ่เห็นได้ชัด ในเวลาร่มครึ้มที่ตุ่นออกหากิน ชาวบ้านบางคนเล่าว่าเคยได้ยินเสียงตุ่นกัดไผ่ดัง "ก่อด ก่อด" อย่างชัดเจน ส่วนขุยดินนั้นเป็นร่องรอยตุ่นอีกอย่างหนึ่ง ขุยดินหรือกองดินที่ตุ่นขุดไว้จะเป็นดินร่วนปนทราย เป็นดินเม็ดๆ เม็ดละเอียด ต่างจากขุยดินหนูที่เป็นดินเหนียวเม็ดใหญ่กว่า ซึ่งหากขุดตามขุยดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตรจะเริ่มเจอรังตุ่น แต่ละรังมีอุโมงค์เชื่อมถึงกัน ถ้าขุดลึกประมาณ 1 เมตรจะพบรังเก็บอาหารหลายรัง รังโพรงหรือกะโพร้งที่พักตุ่นจะมีหญ้าแห้งเป็นรังนอน
ในแหล่งหนึ่งๆ มีตุ่นอาศัยรวมกันกว่า 10 ตัว ซึ่งหากขุดรังตุ่น ผู้ขุดก็จะสามารถจับตัวตุ่นได้คราวละหลายตัว แต่ไม่นิยมทำกัน เนื่องจากจะได้กินเพียงครั้งเดียว แต่ต้องการดักคราวละตัวมากกว่า เพื่อมีกินได้นานๆ จึงประดิษฐ์เบ็ดดักตุ่นขึ้นมาโดยอาศัยการสังเกตพฤติกรรมของตุ่นดังกล่าว