ลูกมะพร้าวดักลิง



คำอธิบาย

ลูกมะพร้าวดักลิงเป็นเครื่องมือที่คิดขึ้นมาสำหรับดักลิงโดยตรง ซึ่งจะไม่สร้างความบอบช้ำให้กับลิงเหมือนการใช้เครื่องมือยิงหรือเครืองมืออย่าง "จั่น" ซึ่งจะกักลิงในบริเวณคับแคบ วัสดุที่ใช้ได้แก่ ลูกมะพร้าว เชือก ส่วนเหยื่อที่ใช้คือไข่เป็ดต้ม กล้วย ฝรั่ง ตะขบ และลูกไม้ต่างๆ

วิธีทำลูกมะพร้าวดักลิง เริ่มจากฝานเปลือกบริเวณหัวมะพร้าวออก แล้วกระเทาะกะลามะพร้าวออกเป็นช่องกลมขนาดเล็กกว่ากำมือลิง เจาะรูที่ก้นมะพร้าว ร้อยเชือกเพื่อนำปลายเชือกอีกด้านไปมัดกับต้นไม้ใกล้แหล่งน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ลิงนำเครื่องมือหนีไปด้วย นำเหยื่อใส่ในลูกมะพร้าว เมื่อลิงมากินน้ำในบริเวณแหล่งน้ำที่วางกับดักไว้ ลิงมักจะจับลูกมะพร้าวเล่นก็จะได้กลิ่นเหยื่อ โดยสัญชาตญาณ ลิงจะล้วงมือเข้าไปหยิบอาหาร เมื่อหยิบจับอะไรได้ก็ตามลิงจะกำมือ ทำให้มือใหญ่เกินขนาดของช่องที่สอดมือเข้าไป ไม่สามารถดึงมือออกจากช่องลูกมะพร้าวได้ เหยื่อที่ใช้ได้ผลดี คือ ผลฝรั่งกึ่งสุกกึ่งดิบ เพราะสภาพกึ่งสุกจะส่งกลิ่นหอมล่อลิง ส่วนกึ่งดิบช่วยถนอมไม่ให้ผลฝรั่งเละง่ายเมื่อถูกลิงบีบ แต่เหยื่อที่ได้ผลดีที่สุดคือไข่เป็ดต้มไม่ปอกเปลือก เพราะนอกจากมีกลิ่นหอมและมีความแข็งแล้ว ยังเป็นอาหารพิเศษที่ไม่อาจหากินได้ง่ายๆ

เมื่อดักลิงวันไหนก็จะมีลิงมาติดวันนั้น ชาวบ้านจะรอจน 2-3 วันจึงค่อยปลดลิงออกจากเครื่องมือ เพื่อดูว่าลิงแข็งแรง ไม่มีโรค ซึ่งดูจากมูลเหลว และเพื่อให้ลิงล้าลง จับได้ง่ายขึ้น ชาวบ้านทำให้ลิงนิ่งลงโดยใช้ไม้เรียวยาวประมาณ 3 เมตร แหย่ให้ลิงหลับตา หรือเสียบอาหารที่ปลายไม้หมุนล่อหลอกให้ลิงงง แล้วใช้ผ้าขาวม้าโยนคลุมลิง แต่นิยมใช้แหมากกว่าเพราะแหมีตุ้มถ่วงน้ำหนัก เป็นเชือกถักหยิบจับลำบาก ยิ่งจับยกย้ายก็จะยิ่งถูกแหพันจนแก้ไม่ออก ด้วยกิริยาอาการนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "ลิงติดแห" หรือ "ลิงแก้แห" คือยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง

ลูกมะพร้าวดักลิงจะใช้ได้เพียงครั้งเดียว เนื่องจากไม่ว่าจะอย่างไร ลิงก็ไม่ยอมคลายมือที่กำเหยื่อไว้ จึงต้องผ่าซีกลูกมะพร้าวเพื่อเอามือลิงออก ประกอบกับลูกมะพร้าวและเชือกที่ใช้ทำเครื่องมือหาได้ง่าย จึงไม่ต้องเป็นภาระขนย้าย ที่น่าสนใจคือ เทคนิควิธีของเครื่องมือนี้เจาะจงดักจำเพาะลิงที่มีนิ้วยาวและคัดเลือกขนาดวัยของลิงที่ต้องการจากช่องกะลาที่เจาะไว้ โดยที่ลูกลิงกำมือเล็ก สามารถดึงออกจากช่องได้ ส่วนลิงแก่แม้ยังไม่กำมือก็นำมือเข้าไม่ได้เพราะมือใหญ่ ลูกมะพร้าวดักลิงจึงคัดเลือกเฉพาะลิงหนุ่มสาว ชาวบ้านบางคนนำลิงที่จับได้ มาฝึกช่วยงาน เช่น ปีนเก็บมะพร้าว บ้างจับไปแลกอาหาร แลกเครื่องใช้กับคนต่างถิ่น

ลูกมะพร้าวดักลิงแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้คนกับสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นประดิษฐผลจากการที่ชาวบ้านสังเกตธรรมชาติของลิง การเรียนรู้วงจรชีวิตในป่า