หับเป็นเครื่องมือดักนกเล็กๆ เช่น นกกระจี นกสีชมพู นกปรอด และนกที่กินดอกหญ้า หับมีลักษณะเป็นกรงขัง ล่อให้นกเป้าหมายมาติดโดยการใช้นกต่อ
หับมีหลายรูปล่างลักษณะ ที่นิยมมักทำเป็นหับสองห้องและหับสี่ห้อง กล่าวคือ หับจะมีห้องหนึ่งเป็นห้องหลักใช้ใส่นกต่อ และทำหน้าที่อื่นๆ เสริมออกมาจากห้องหลัก ถ้าทำห้องเพิ่ม 2 ห้องจะดักนกได้ห้องละตัว รวมได้ 2 ตัว เรียกว่าหับสองห้อง ถ้าทำห้องเสริมจากหัองหลัก 4 ห้องก็เรียกหับสี่ห้อง การเรียกจำนวนห้องจะเรียกจากจำนวนนกที่ดักได้ ไม่นับรวมห้องหลัก
การทำหับจะใช้หวายทำเป็นโครงและใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็กๆ จำนวนมากเสียบตามโครงคล้ายเป็นฝาบ้าน แต่เป็นฝาที่ตีลูกกรงทั้งหลัง เพื่อให้มีความโปร่ง มองทะลุถึงห้องด้านในที่ใส่นกตัวเมียหลอกล่อไว้ เพื่อให้อากาศถ่ายเทและดูเป็นธรรมชาติกว่าการตีฝาทึบ หับใช้การขัดลำเครื่องมือเช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆ คือใช้ไม้ปิ่น ไม้ขัดและไม้ทุบ แต่เปลี่ยนจากไม้ทุบเป็นการใช้ฝาประตูปิด วิธีนี้จำทำให้นกไม่บอบช้ำ เป็นการกักนกไว้ระยะเวลาหนึ่งจนกว่าเจ้าของจะจับออก
ภายในห้องแต่ละห้องจะมีกลไกขัดลำทำงานห้องละชุด เมื่อเปิดฝากห้องห้องหนึ่งขึ้นจะพบไม้ซี่ 2 ชิ้นวางขวางกลางห้อง ชิ้นหนึ่งอยู่บน ชิ้นหนึ่งอยู่ล่าง ไม้ทั้ง 2 ชิ้นเอาด้ายมัดไว้กับโครงชิ้นล่าง ไม่มัดตึง เพื่อให้ขยับยกได้เล็กน้อย ไม้ชิ้นบนใช้ขัดโคนปิ่นที่มีเชือกมัดโยงไว้กับฝาประตู เมื่อขัดโคนปิ่นแล้ว ดึงไม้ชิ้นล่างขึ้นมาขัดกับปลายปลิ่นไว้ เวลาจะใช้งานจึงต้องขัดลำเครื่องมือทุกห้อง เครื่องมือนี้มีโอกาสจับสัตว์ได้มากขึ้นจากการลงทุนทำกลไกมากชุดขึ้น แต่เครื่องมือจะได้ผลดียิ่งขึ้นเพราะอาศัยนกต่อที่ใส่ไว้ในห้องหลัก กับการเลือกที่ทางวางเครื่องมือด้วย
เมื่อเตรียมเครื่องมือ เตรียมนกต่อพร้อมแล้ว เจ้าของจะเลือกวางหับตามกอหญ้า ใช้เศษหญ้าวางแต่งตามเครื่องมือให้กลมกลืนกับหญ้าหรือไม้พุ่มเตี้ยต่างๆ นกต่อจะส่งเสียงร้องโดยธรรมชาติ เมื่อนกตัวอื่นที่หากินแถวๆ นั้นได้ยินเสียงจะเข้าหา หัวหรือขาของนกเป้าหมายจะไปถูกเครื่องมือที่ขัดลำกันไว้ ซึ่งเป็นการขัดแตะกันหมิ่นๆ โดยเฉพาะตรงปลายปิ่นกับไม้ขวางชิ้นล่าง ทำให้ไม้ชิ้นใดชิ้นหนึ่งขยับ ไม้หลุดจากกันทำให้โคนปิ่นดึงเชือกฝาประตูไว้ไม่ไหว ฝาประตูจึงปิดงับลง ขังนกเป้าหมายไว้ทันที
ชื่อของหับมาจากการงับปิดของฝาประตูนั่นเอง นกเป้าหมายมักเดินเข้าไปเพื่อหานกต่อ แต่ทำได้เพียงเดินป้อไปมาระหว่างห้องตัวเองกับห้องที่นกต่ออยู่ เพราะติดฝาลูกกรงที่ขวางไว้ ซึ่งการที่นกเป้าหมายยังเข้าไม่ถึงตัวนกต่อนี่เอง ทำให้นกเป้าหมายมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งโดยการเดินกลับไปมาและโดยการส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากนกต่อ เสียงของนกทั้งสองตัวที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน ส่งผลให้นกตัวอื่นเข้ามาติดเครื่องมือในห้องอื่นจนครบจำนวนห้องที่ทำไว้
ชาวบ้านนิยมนำนกตัวเมียมาต่อล่อตัวผู้ เรียกนกตัวเมียตัวนี้ว่า "นางนกต่อ" กล่าวกันว่าถ้าเอาตัวผู้มาต่อ ตัวเมียไม่ค่อยเข้ามาติด จึงไม่มี "นาย" นกต่อ หากต้องการนกตัวเมียมักนำลูกนกมาต่อ อธิบายกันว่า แม้ไม่ใช่แม่ลูกกันจริงๆ แต่นกตัวเมียจะมีสัญชาตญาณของการเป็นเพศเมียเพศแม่อย่างสูง ลักษณะการใช้ตัวต่อล่อนิยมใช้กับสัตว์ปีกอ่นๆ ด้วย ดังเช่นการต่อไก่ เป็นต้น สำหรับเรื่องนกต่อหรือนางนกต่อ ช่วยให้เข้าใจเรื่องการวางแผนการทำงาน การเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่างเพื่อ "เร่งเร้า" เป้าประสงค์มากขึ้น และเพื่อรับโอกาสที่หวังผลได้ นอกจากนี้ "นางนกต่อ" ยังเป็นตัวกลางระหว่างผู้บางการกับเป้าหมายหรือเหยื่อ