อีทุบเป็นเครื่องมือดักกระรอก กระแตและหนู มีการขัดลำเครื่องมือโดยมีไม้สำคัญ 3 ชิ้น คือ ปิ่น ไม้ซีกและไม้ทุบ ซึ่งเป็นเทคนิคหลักที่พบในเครื่องมือดักสัตว์หลายชนิด แต่อีทุบต้องประกอบติดตั้งก่อนใช้งาน ขณะที่เครื่องมืออีกมากประกอบสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน
ลักษณะเด่นของอีทุบอยู่ที่รูปลักษณ์ทรงกระโจมและกลวิธีขัดลำเครื่องมือ โดยไม้ทุบจะทำหน้าที่ทุบสัตว์ที่เข้ามากินเหยื่อ จึงเรียกเครื่องมือนี้จากวิธีทำงานหลักโดยการทุบว่าอีทุบ นอกจากนี้อีทุบยังปรับประดับความแรงในการทุบทำงานได้อีกด้วย
วัสดุสำหรับทำอีทุบ ได้แก่ ไม้ไผ่และเชือก วิธีทำคือ เหลาไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบของอีทุบ ได้แก่ ไม้ผ่าเป็นซีก ขนาดความยาว 45 เซนติเมตร จำนวน 30 ชิ้น ไม้โค้งดัดงอแล้วให้มีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร เมื่อปักดินให้มีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ไม้ทุบเป็นไม้ไผ่ลำเล็ก ขนาดความยาวประมาณ 1-1.25 เมตร ไม้ซีก ความกว้าง 0.5 เซนติเมตร หรือ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และปิ่นหรือเดือยซึ่งเป็นชิ้นไม้ขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
จากนั้นจึงนำมาประกอบการใช้งาน โดยนำไม้ไผ่ผ่าซีกจำนวน 30 ชิ้น ตอกดินไล่เรียงกันเป็นทรงกระโจม ที่ด้านหน้าเปิดไว้เหมือนเป็นประตูทางเข้า ตอกไม้โค้งหน้ากระโจม นำไม้ทุบมาขวางหน้ากระโจม โดยต้องเป็นส่วนปลายไม้ที่อยู่หน้ากระโจมจึงจะมีน้ำหนักฟาดอย่างแรง ที่ส่วนโคนของไม้ทุบให้หาหลักขอมาปักยึดกับพื้นดินไว้ นำเชือกมามัดใกล้ๆ ส่วนยอดกระโจม ปลายเชือกด้านหนึ่งห้อยลงมาในกระโจม ปลายเชือกนี้มัดโคนปิ่นไว้
วิธีใช้งานให้ดึงไม้ทุบยกขึ้นจับวางบนเชือกใกล้โคนปิ่น ไม้ทุบจึงวางอยู่ระหว่างโคนปิ่นกับเชือก ไม้ซีกมาวางแนบไม้โค้ง ขยับขึ้นให้แตะปลายปิ่นไว้ รอเวลาทำงาน ชาวบ้านมักติดตั้งอีทุบตามไร่ข้าวโพด ตามแหล่งน้ำใกล้แหล่งเพาะปลูก หรือตามป่าต่ำๆ ก่อนขัดลำใช้งานต้องใส่เหยื่อไว้ในกระโจม เมื่อพวกกระรอก กระแต เห็นเหยื่อจะเข้าไปกินเหยื่อ ขาหรือตัวของกระรอกกระแตจะเหยียบหรือกดไม้ซีกต่ำลง ทำให้ปลายปิ่นไม่มีอะไรยึดไว้ ปิ่นรับน้ำหนักไม้ทุบไม่ได้ ไม้ทุบที่ถูกดึงขึ้นไว้จึงฟาดลงมาตีกลางลำตัวสัตว์ทันที สัตว์จะกระโจนไปข้างหน้าเข้าไปติดอยู่ในกระโจม ซึ่งแม้จะมีช่องประตูที่น่าจะเดินออกมาได้ แต่สัตว์ที่เข้าไปติดมักจะไม่ออกมา ชาวบ้านอธิบายว่าเพราะสัตว์ตกใจไม่มีสติ จึงเดินเร็วๆ วนไปวนมาหาทางออกไม่ได้ หรือเป็นไปได้ว่าเมื่อถูกตีเจ็บตรงปากทางนั้น จึงไม่ยอมออกตรงนั้น
อีทุบใช้งานได้ตลอดเวลา ดักกระรอก กระแตช่วงกลางวัน และดักหนูที่ออกหากินตอนกลางคืน การปรับระดับความรุนแรงในการตีได้ หมายความว่าสามารถเอาสัตว์อย่างกระรอก กระแต ที่ถูกตีเบาๆ ไปเลี้ยงหรือไปขายต่อ หรือได้สัตว์เป็นทั้งกระรอก กระแต หนู ที่พร้อมปรุงอาหารในเวลาที่ต้องการ ชาวบ้านดักสัตว์ที่มากัดกินพืชไร่ อย่างเช่นหัวเผือกหัวมัน หรือข้าวโพด ด้วยอีทุบและเครื่องมืออีกหลายชนิด แสดงว่าการกัดทำลายพืชผลเกิดขึ้นซ้ำๆ เครื่องมือจัดการสัตว์รบกวนผลผลิต จึงมีหน้าที่มากกว่าแค่การจับหรือกักขังสัตว์ พบว่าโดยมากแล้วเครื่องมือมักใช้กลไกการทุบ ดีด กระแทกที่เกิดเสียงดัง เสียงจากเครื่องมือและเสียงของสัตว์ที่ถูกทุบทำลายมีผลให้สัตว์ตัวอื่นๆ แตกตื่นวิ่งออกไปจากแหล่งอาหารแถวนั้น หรือไปติดเครื่องมืออันอื่นๆ เครื่องมือที่มีเสียงขณะทำงานจึงมีส่วนผลักดันให้สัตว์ตัวอื่นติดเครื่องมืออันอื่นเร็วขึ้น มากขึ้น อีทุบและเครื่องมือกลุ่มดักหนู อาทิ ฟ้าลั่น ด้วง ฟ้าทับเหว จึงมีลักษณะร่วมกัน คือทำหน้าที่จับและมีเสียงให้สัตว์อีกมากแตกตื่น