อีหันเป็นเครื่องมือสำหรับดักงู ซึ่งสนองต่อความเชื่อของคนได้ลึกซึ้ง กล่าวคือมีความเชื่อเกี่ยวกับการจับงูโดยเฉพาะงูดุร้ายว่าไม่ควรทุบงู ถ้างูหลังหักจะทำให้คนผู้นั้นหากินไม่ขึ้น หรือถ้าทำร้ายงูและงูไม่ตาย งูจะอาฆาตมาดร้ายและย้อนกลับมาทำร้ายคนผู้นั้น ด้วยเหตุนี้ เครื่องมือจับงูจึงต้องฆ่างูให้ตายสนิท และต้องฆ่าโดยไม้ใช้การทุบตี ชาวบ้านจึงใช้เครื่องมือที่เรียกว่าอีหันซึ่งเป็นไม้รวกที่มีความคม ผิวไม้ไผ่รวกมีความคมมากถ้าไม่เหลา จะเห็นได้จากในสมัยก่อนเมื่อคลอดลูก หมอตำแยจะใช้ไม้รวกตัดสายรกเด็ก
การทำอีหัน ให้นำผิวไม้รวกสานเป็นกระแตะ ลายที่นิยมสานคือลายตาเฉลวซึ่งจะมีรูอยู่ตรงกลาง ที่รูนี้กะขนาดให้เล็กกว่าลำตัวงูที่จะจับ นำอีหันไปวางบนดินเหนือปากรูงู หาขอไม้หรือทำไม้เป็นหลักขอปักยึดอีหันไว้กับปากรูงูให้แน่น ถ้าให้ได้ผลดีคือไม่ให้อีหันขยับเขยื้อนได้ ควรปักหลักยึดอีหันด้วยหลักขอ 5-6 ชิ้น การเตรียมอีหันต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนเวลาที่งูจะเลื้อยออกจากรูมาหากินคือก่อนเวลาพลบค่ำหรือช่วงเช้ามืด ซึ่งโดยมากนิยมดักช่วงพลบค่ำเพราะสะดวกกว่า
ลักษณะสำคัญของงูคือ หัวเล็ก ลำตัวใหญ่ หางเล็ก งูเลื้อยโดยใช้เกล็ดที่ท้องผลักตัวเองเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่องูเลื้อยผ่านอีหัน ส่วนหัวและส่วนคอของงูสามารถโผล่พ้นออกมาได้ แต่ส่วนลำตัวจะติดค้าง งูจะขยับตัวเพื่อผ่านออกมาไม่ได้ การขยับตัวทำให้ถูกบาดจากไม้รวกและถูกบาดโดยรอบด้าน งูที่ลำตัวใหญ่มากๆ บางตัวอาจถูกอีหันบาดจนไส้ทะลักออกมาก็มี โดยไม่มีงูตัวใดเลื้อยย้อนกลับเข้าไปเนื่องจากย้อนเกล็ดและฝืนธรรมชาติ
งูนับว่าเป็นสัตว์อันตรายสำหรับผู้คนที่ใช้ชีวิตตามบ้านไร่ ที่ที่คนหากินคือที่อยู่ของงู และงูก็เป็นอาหารมื้อหนึ่งของคนหลายคน ในกลุ่มคนจับงู กินงู อธิบายว่า "สุสานที่ใหญ่ที่สุดคือปากมนุษย์" คนกลุ่มนี้จึงอธิบายได้ละเอียดถึงขนาดว่าเนื้องูที่จับในแต่ละฤดูไม่เหมือนกัน ในฤดูร้อนงูจะไม่เลื้อยหากินสะเปะสะปะ แต่จะกินหนู กินปูตามรู เนื้องูจึงสะอาด ไม่คาว แต่ในฤดูฝนงูชุกชุมแย่งกันหากิน บางทีกินซากสัตว์ เนื้องูจะคาวมาก ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งไม่ได้ตั้งใจจะจับงูกินโดยตรง แต่งูมักเข้ามากินไก่ในเล้า หรือสังเกตว่างูเข้ามาอยู่ใกล้อาณาบริเวณที่อยู่ที่กินของคนก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น เห็นรอยงูเลื้อย คราบงู โดยเฉพาะคราบงูพิษลอกใหม่ๆ ในสถานการณ์ดังกล่าวก็จำเป็นจะต้องจับงูให้ได้เพื่อความปลอดภัย ผลพลอยได้ที่ตามมาคือได้เนื้องูสำหรับประกอบอาหาร ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องใส่เครื่องเทศจัดเพื่อดับคาว เช่น แกงคั่วแห้ง ผัดกะเพราะ ผัดใส่ใบยี่หร่า เป็นต้น ส่วนหนังงูนำมาฟอกตากแห้ง ใช้ทำเครื่องใช้ไม้สอย ทำเข็มขัด ปะติดหนังกลอง หรือขายแลกเปลี่ยนกับสิ่งจำเป็นอื่นๆ ส่วนดีงู โดยเฉพาะดีงูเห่า นำมาละลายเหล้ากิน เชื่อว่าบำรุงเลือด บำรุงสายตา แก้ปวดเมื่อย แก้ปัสสาวะบ่อย