ไม้หีบอ้อยเป็นเครื่องผ่อนแรงชนิดหนึ่งใช้สำหรับหีบอ้อยหรือหนีบอ้อยควั่น โดยหนีบเค้นน้ำอ้อยให้ไหลออกมา เพื่อนำไปถวายพระและดื่มกินกันเอง
การกินอ้อยของคนพื้นบ้านโดยทั่วไปมักใช้ปากปอกเปลือกอ้อยให้รอบ ๆ ก่อน จึงเคี้ยวอ้อยแล้วคายชานอ้อยทิ้ง เด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวที่มีฟันแข็งแรง ใช้วิธีนี้ได้สบาย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ฟันหักบ้างหรือฟันหมดปากแล้ว เป็นเรื่องลำบากยิ่ง ต้องใช้วิธีการคือ ควั่นอ้อยเป็นข้อสั้น ทุบให้แหลก แล้วดูดน้ำอ้อย บ้างใช้ตะบันหมากตำอ้อยควั่นก็มี และด้วยความไม่สะดวกเช่นนี้เอง จึงมีการคิดค้นไม้หีบอ้อยขึ้น มีรูปแบบการทำงานคล้ายช้างหีบ แต่ทำได้ทีละน้อยและง่ายกว่า
มีส่วนประกอบสำคัญดังนี้ ๑) ไม้หีบอ้อยหรือไม้นวด เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้กบเหลาเป็นท่อนกลม ยาวประมาณ ๕๐ ซม. สอดไว้ในรูหลวม ๆ เจาะไว้ในไม้ฐานตั้ง ๒) ไม้หลักหรือไม้ลูกตั้ง สูงประมาณ ๕๐ ซม. เจาะค่อนข้างบนปลายไม้เป็นรูยาว ให้ไม้หีบอ้อยและข้ออ้อยควั่นสอดเข้าไปพร้อมกันเพื่อให้หีบอ้อยได้ ๓) ที่รองน้ำอ้อย สมัยก่อนใช้กาบหมาก กาบกล้วย หรือเปลือกไม้บางชนิด ต่อมาใช้แผ่นเหล็กหรือแผ่นสังกะสี ทำเป็นรางวางสอดรูไม้หลัก แต่อยู่ด้านล่างไม้หีบอ้อยและข้ออ้อยควั่น ๔) ไม้ฐานกรอง ใช้รองรับน้ำอ้อยที่จะไหลลงมาเวลาหีบอ้อย
เวลาใช้งาน ให้ตัดท่อนอ้อยเป็นลำ ปอกเปลือก แล้วควั่นอ้อยเป็นท่อนสั้น ๆ จากนั้นใส่อ้อยควั่นไปในรูหีบทีละข้อ แล้วกดปลายไม้หีบอ้อยลงมา โคนไม้หีบจะหนีบอ้อยควั่นที่สอดไว้ในรูจนแหลกและเค้นน้ำอ้อยให้ไหลลงมาที่ฐานกรอง
ไม้หีบอ้อย
อัพเดตเมื่อ 24 เม.ย. 2564
คำอธิบาย