พิมพ์น้ำตาล



คำอธิบาย

พิมพ์น้ำตาล เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้หล่อน้ำตาลให้เป็นรูปตามแม่พิมพ์ ทำจากไม้เนื้อแข็ง ผ่าเป็น 2 สองซีก แกะเนื้อไม้ให้เป็นรูปตามที่ต้องการทั้ง 2 ฝั่งให้สามารถประกบเป็นชิ้นเดียวกันได้พอดี โดยมีวิธีใช้คือ นำแม่พิมพ์หรือแผ่นไม้ 2 แผ่นประกบกัน แล้วเอายางหรือเชือกปอรัดไว้ให้ติดกัน จากนั้นจึงเคี่ยวน้ำตาลหรือน้ำอ้อยจนเหนียวได้ที่ แล้วนำมาหยอดใส่ในแม่พิมพ์ดังกล่าว จากนั้นรอจนแห้งจึงแกะพิมพ์ออกทั้ง 2 ข้าง ก็จะได้น้ำตาลตามแบบพิมพ์

น้ำอ้อยที่นำมาใช้ทำน้ำตาลนั้นมาจากต้นอ้อยซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น มีอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอ้อยหกซึ่งเป็นอ้อยพันธุ์พื้นบ้าน ลำต้นสีเหลืองอมเขียว ยาว ให้ความหวานพอประมาณ แต่ปัจจุบันจะใช้อ้อยที่ปรับปรุงพันธุ์ซึ่งให้ความหวานมากกว่า

การสืบพันธุ์อ้อยแทบทุกชนิดนั้นใช้ลำต้นหรือหน่อตัดเป็นท่อนๆ ให้มีตาอยู่ 4 ตา เอาไปเรียงตามขวางให้ตาอยู่ด้านข้าง เอาดินโรยบางๆ ให้มีความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของลำต้น เอาฟางมาคลุมปิดไว้ รดน้ำให้ชุ่ม ไม่นานอ้อยก็จะแตกหน่อออกมาเป็นลำต้นเล็กๆ ถ้าใบอ้อยสูงสัก 1-2 ศอก จะย้ายไปปลูกในไร่หรือสวนต่อไป ทั้งนี้การปลูกนั้นจะปลูกประมาณ เดือน 9 หรือเดือน 8 แรม (มิถุนายน - กรกฎาคม) ล้อมรั้วกั้นไว้ไม่ให้สัตว์อื่นเข้ามารบกวน อ้อยกอหนึ่งๆ จะมีประมาณ 6-8 ลำ พออ้อยยาวสัก 1 เมตรก็เอารั้วล้อมเป็นแถวๆ กันต้นอ้อยล้ม เพราะถ้าอ้อยล้มแล้วต้นจะคดและความหวานจะลดลงมาก พอถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะตัดลงเพื่อทำการหีบอ้อยให้เป็นน้ำอ้อยต่อไป