ไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าว



คำอธิบาย

ไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าวเป็นเครื่องมือสำหรับปิ้งข้าวเกรียบว่าวซึ่งเป็นขนมหวานของเด็กๆ มักจะมีขายตามงานวัดทั่วไป วัสดุที่ใช้ทำไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าว ได้แก่ ลำไม้ไผ่ โดยนำลำไม้ไผ่มาผ่าซีก ถ้าเป็นไผ่ลำใหญ่ๆ ก็ตัดมา 1 ท่อน ยาวประมาณ 1 ฟุต ผ่าออกเป็น 4 ซีก ลบคมไผ่ข้างๆ ด้วยมีดคมๆ ให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นอาจจะบาดมือหรือมีเสี้ยนตำมือคนปิ้งได้ ไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าว 1 ชุดมี 2 อัน ดังนั้น ที่ผ่าออกเป็น 4 ซีกจึงทำไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าวได้ถึง 2 ชุด หลังจากลบเหลี่ยมคมไม้ไผ่ที่ผ่าซีกแล้ว นำมาผ่าซอยออกเป็นซี่เล็กๆ ผ่าจากปลายเข้ามาหาโคน ผ่าลึกลงมาประมาณ 6 นิ้ว ทำเหมือนกันทั้ง 2 อัน เสร็จแล้วถ้าไม่รีบร้อนปิ้งข้าวเกรียบว่าวจนเกินไป ให้ใช้มีดเหลาเก็บเสี้ยนที่รกรุงรังออกไปให้หมด

การใช้ไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าว พ่อค้าแม่ค้า หรือชาวบ้านทั่วไปที่ทำกินเองจะจุดไฟในเตาหรือจุดในก้อนเส้า หรือจะเป็นกองไฟที่จุดจากฟืนก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ไฟร้อนจนเกินไป เนื่องจากถ้าใช้ไฟร้อนจนเกินไปจะทำให้ข้าวเกรียบว่าวไหม้ กินไม่ได้ ยิ่งถ่านไฟยิ่งแรงก็จะยิ่งควบคุมการปิ้งลำบาก ดังนั้น ต้องใช้ถ่านไฟที่ไม่ร้อนนัก ถ้าจุดไฟขึ้นมาแล้วถ่านร้อนเกินไป จะใช้วิธีตักขี้เถ้าใต้เตาขึ้นมาโรยลงบนถ่านไฟ เถ้าถ่านจะช่วยลดความร้อนให้ลดลง เมื่อได้ไฟตามต้องการแล้ว จึงนำเข้าเกรียบว่าวออกมา แล้วนำไม้ปิ้งข้าวเกรียบว่าว 2 อันมาประกบอันละด้าน ปิ้งกับไฟที่เตรียมไว้ พลิกไปพลิกมา เพียงไม่นานข้าวเกรียบว่าวก็จะสุก ข้าวเกรียบว่าวสุกง่าย เนื่องจากเป็นแผ่นบางๆ ทำจากแป้ง น้ำตาล และส่วนผสมอื่นๆ บ้างเล็กน้อย

ในอดีตนั้น ตามงานวัดต่างๆ ข้าวเกรียบว่าวที่พ่อค้าแม่ค้านำมาปิ้งขายจะมีราคาเพียงอันละ 1 บาท แต่เด็กๆ มักไม่ค่อยมีเงิน อาจจะต้องรอให้ญาติๆ ของตนซื้อกินแล้วจึงแบ่งให้ หรือบางครั้งอาจจะมีญาติผู้ใหญ่ใจดีซื้อแจกจ่ายให้เด็กๆ กินคนละอันสองอัน ข้าวเกรียบว่าวเป็นขนมพื้นบ้าน ชาวไทยปิ้งกินกันมาตั้งแต่อดีต  ถึงแม้ปัจจุบันจะมีขนมกรุบกรอบเข้ามาจำหน่ายแทนที่ในท้องตลาด แต่ข้าวเกรียบว่าวก็ยังพอหากินได้ โดยมักจะมีขายตามงานวัดต่างๆ และสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามตลาดโบราณที่ผุดขึ้นมา ข้าวเกรียบว่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งในการจำลองบรรยากาศในอดีตให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้รำลึกถึงบรรยากาศเช่นนั้นอีก