กระต่ายขูดมะพร้าว



คำอธิบาย

กะทิ เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารไทยหลายชนิด "กระต่ายขูดมะพร้าว" จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการขูดเนื้อมะพร้าวให้เป็นฝอย เพื่อนำไปคั้นน้ำกะทิต่อไป

ส่วนประกอบของกระต่ายขูดมะพร้าว ประกอบด้วย 1) ตัวกระต่าย ทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งท่อน แกะสลักเป็นลายต่าง ๆ เช่น กระต่าย คน แมว เป็นต้น ใช้เป็นที่รองนั่ง 2) ฟันกระต่าย เป็นแผ่นเหล็กที่ยื่นออกมาจากตัว มีขอบเป็นฟันซี่เล็กแหลมคม สำหรับขูดเนื้อมะพร้าวให้เป็นฝอย

ผู้ใช้จะนั่งบนตัวกระต่าย มีภาชนะรองใต้ฟันกระต่าย จับมะพร้าวแห้งผ่าซีกครอบลงบนฟันกระต่าย แล้วเริ่มขูดไปเรื่อย ๆ จนเนื้อมะพร้าวหมด

มะพร้าวที่ขูดได้ จะนำไปคั้นน้ำกะทิ โดยการเติมน้ำอุ่นเล็กน้อยแล้วใช้มือบีบขยำจนได้น้ำกะทิสีขาวข้น น้ำกะทิที่ได้จากการคั้นครั้งแรก เรียกว่า "หัวกะทิ" จากนั้นจึงคั้นต่ออีกสักสองครั้ง โดยครั้งที่สองจะเรียกกว่า "กะทิธรรมดา" และครั้งที่สาม เรียกว่า "หางกะทิ" ความมันเข้มข้นจะแตกต่างกันไป ซึ่งกะทิแต่ละชนิดจะใช้ปรุงอาหารที่ต่างกัน

คุณไพบูลย์ เชื้อสวย แห่งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนหลุมข้าว กล่าวว่า ที่เรียกอุปกรณ์นี้ว่ากระต่าย น่าจะเป็นเพราะกระต่ายมีฟันคมและชอบแทะสิ่งของต่าง ๆ

กระต่ายขูดมะพร้าวอาจมีชื่อเรียกและรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาค ภาคเหนือ เรียก "แมวขูด" นิยมทำเป็นรูปแมว ภาคกลางเรียก "กระต่ายขูดมะพร้าว" นิยมทำเป็นรูปกระต่าย ภาคใต้เรียก "เหล็กขูด" มีรูปแบบหลากหลายทั้งแบบธรรมดาไม่มีลวดลายและแบบประณีตสวยงาม แต่จะมีความชัดเจนว่าส่วนใดคือหัวหรือหาง เป็นการสะท้อนจารีตที่ชาวใต้ยึดถือเรื่องบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น ใครเป็นเด็ก ใครเป็นผู้ใหญ่

ปัจจุบัน กระต่ายขูดมะพร้าวยังคงมีใช้อยู่ในบางครัวเรือน แต่อาจไม่วิจิตรสวยงามดังแต่ก่อน เหมาะสำหรับการทำอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่หากเป็นงานใหญ่ เช่น งานบวช งานแต่งงาน ก็อาจใช้กะทิสำเร็จรูป หรือซื้อมะพร้าวที่ขูดด้วยเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้ามาคั้นเอง เพราะทุ่นแรงและประหยัดเวลากว่าการใช้กระต่ายขูดมะพร้าว