ต้นตาล หรือ ตาลโตนด สำหรับคนทั่วไป มักจะนึกถึงจังหวัดเพชรบุรีที่เป็นแหล่งผลิตตาลโตนดขึ้นชื่อของประเทศ แต่ใครจะรู้ว่าที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ก็ปลูกต้นตาลหนาแน่น และมีภูมิปัญญาดั้งเดิมเฉพาะถิ่นในการจัดการผลิตผลจากต้นตาลด้วยเช่นกัน
สำหรับชาวใต้ อุปกรณ์ทำตาลโตนด มีสามชิ้นคือ 1. ไม้คาบ ใช้คาบงวงตาลให้เกิดรอยช้ำ งวงตาลมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย 2. กระบอก ใช้รองน้ำผึ้ง (น้ำตาล) ทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันไม่ไผ่หายากและมีการอนุรักษ์ จึงใช้ลูกทุ่นตัดหัวหรือใช้แกลลอนน้ำมันแทน 3. มีดปาดตาล ใช้ปาดงวงตาล
การเก็บน้ำตาลสด ต้องรอให้งวงตาลมีดอกสีเหลืองขึ้นเต็ม หากงวงอ่อนเกินไป จะเหี่ยวนิ่มไม่ได้น้ำตาล เมื่อเลือกงวงได้แล้ว จึง "หมักงวงตาล" โดยการใช้โคลนตามท้องนาผสมน้ำใส่ในกระบอกแล้วแช่งวงตาลไว้ 2 คืน กับ 1 วัน เพื่อให้ดอกตาย เพราะถ้ายังมีดอกอยู่ ต้นจะส่งน้ำตาลไปเลี้ยงดอก ทำให้น้ำตาลไหลออกมาไม่ดี
เมื่อหมักได้ที่แล้ว ให้นำงวงตาลออกจากกระบอก ปล่อยให้แห้ง 1 วัน จากนั้นจึงเช็ดดินออกให้สะอาด ใช้ "ไม้คาบ" บีบงวงตาล แล้วใช้ "มีดปาดตาล" ปาดงวงเพื่อให้น้ำตาลไหลออกมา มีดปาดตาลต้องลับทุกครั้งก่อนขึ้นปาดตาล เพื่อให้รอยปาดเรียบสวย น้ำตาลไหลดี มีดจะเก็บไว้ใน "ปลอกมีด" ที่ทำจากกาบหมาก หากใช้ผ้าหรือหนัง จะนิ่มเกินไปจนเป็นอันตรายต่อผู้พวกพา หรือถ้าเป็นไม้ ก็จะแข็งเกินไป จนทำให้ครูดกับตัวมีดจนหมดคมได้ง่าย ๆ
เมื่อปาดงวงตาลแล้ว ให้นำ "กระบอกตาล" ที่มีชิ้น "ไม้เคี่ยม" ใส่ไว้ข้างใน เป็นสารกันบูดฉบับพื้นบ้านของภาคใต้ มารองน้ำตาล งวงตาล 1 งวง ให้น้ำตาลสดประมาณ 5 ลิตร ในเวลา 1-2 เดือน กระบอกตาลจะทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบัน นำท่อพลาสติกหรือขวดพลาสติกมาใช้แทน เพราะหาได้ง่าย โดยจะเก็บกระบอกรองน้ำตาลสองรอบต่อวัน ถ้าแขวนตอนเช้า จะเก็บตอนเย็น เปลี่ยนกระบอก แล้วเก็บตอนเช้าต่อ ตอนกลางวัน น้ำตาลจะไหลน้อย น้ำตาลที่เก็บรอบเย็นจึงนำมาต้มให้เดือดแค่พอสุก เพื่อรอเคี่ยวตอนกลางวันของวันถัดไป
ขณะเคี่ยวน้ำตาล สามารถทำความสะอาดกระบอกตาลพร้อมกันได้ โดยการใช้กระบวยตักน้ำตาลเดือดมาลวกให้ทั่วกระบอก เป็นการฆ่าเชื้อเพื่อกันบูด เพราะถ้าไม่ลวกกระบอกก่อนนำไปใช้ น้ำตาลจะเปลี่ยนรสชาติเป็นน้ำตาลเมา หรือ "น้ำหวาก" ถ้าทิ้งต่ออีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ จะกลายเป็น "น้ำส้ม" หรือ "น้ำส้มโหนด" ใช้ปรุงอาหารได้
น้ำตาลสดที่เคี่ยวประมาณ 6 ชั่วโมง จนเป็นน้ำตาลเหลว เรียกว่า "น้ำผึ้ง" จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลแว่น น้ำตาลก้อน หรือน้ำตาลเกล็ด ต่อไป บ้างก็นำไปต้มเหล้า
ในอดีต ชาวบ้านสทิงพระจำผลผลิตจากตาลไปถวายวัดพะโตะ เพราะสมัยก่อนแถบนี้เป็นพื้นที่กัลปนาวัด ไม่ต้องส่งส่วยเข้าส่วนกลาง แต่ส่งให้วัดแทน
ปัจจุบัน ต้นตาลที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอระโนด ลดจำนวนลงไปมาก เพราะมีการทำนากุ้งมากขึ้น ต้นตาลเจอน้ำเค็มจากนากุ้งก็ตาย
ประโยชน์ของต้นตาล นอกจากน้ำตาลโตนดแล้ว ใบตาลยังใช้มุงหลังคาได้ ลูกตาลอ่อน นำมารับประทานได้ ลูกตาลแก่ใช้ทำขนมตาลหรือเลี้ยงหมูได้
กระบอกตาล
อัพเดตเมื่อ 13 พ.ค. 2564
คำอธิบาย