อาการปวดเมื่อยในร่างกาย อาจเกิดจากการทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก นั่งนาน ยืนนาน เป็นต้น ถ้าในปัจจุบัน เรามียาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด และครีมทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย รวมทั้งการนวดคลายเส้นตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ในสมัยก่อน ยารักษาโรคหายาก ร้านนวดยังมีไม่มาก คนท้องถิ่นจึงต้องบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยตนเอง โดยการประดิษฐ์เครื่องมือนวดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน เรียกว่า "หมอน้อย"
"หมอน้อย" เป็นเครื่องนวดลำตัว บรรเทาอาการเมื่อยขบและคลายอาการเส้นท้องตึง ทำจากไม้สักหรือไม้เนื้อแข็ง ทำด้วยไม้กิ่ง มีสองส่วน ผูกเชือกติดกัน ส่วนที่หนึ่งมีไม้สองชิ้น ชิ้นแรกเป็นท่อนไม้กลม มีลักษณะคล้ายสากกะเบือ ปลายยาวค่อนข้างเรียว ยาวประมาณ 48 เซนติเมตร ปลายด้านล่างกลมมน ใช้เป็นที่นวด ปลายอีกข้างมีรูสำหรับร้อยเชือก ถัดจากปลายประมาณ 15 เซนติเมตร คือไม้ชิ้นที่สอง เป็นด้ามจับสำหรับกดนวด ส่วนที่สอง คือไม้รองแผ่นหลังหรือไม้ฟาก ยาว 35 เซนติเมตร กว้าง 5 เซนติเมตร ใช้รองหลัง ส่วนโคนของไม้ฟากจะร้อยติดกับไม้ส่วนที่หนึ่งโดยเชือกยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ปรับขนาดให้สั้นยาวตามรูปร่างของผู้ใช้งานได้
ผู้ใช้จะนอนราบ แล้วสอดไม้ฟากใต้ลำตัวตามแนวขวาง ใช้เชือกพันมือถือตรงบริเวณฟันเลื่อยจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อปรับความยาวของเชือก ใช้มือซ้ายจับโคนสาก ไปยังบริเวณที่ต้องการนวด ใช้มือขวาจับด้ามแล้วกดลง เชือกจะตึง และช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
"หมอน้อย" ไม่มีขายทั่วไป ชาวบ้านทำใช้เอง ซึ่งปัจจุบันมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังใช้งานอยู่ ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้แล้ว
หมอน้อย
อัพเดตเมื่อ 3 พ.ค. 2564
คำอธิบาย