ในอดีต อาชีพยอดนิยมของชาวบ้านคลองบางหลวงคือการเกษตร อุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น เคียว จอบ เสียม ล้วนมีเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ หากเกิดการเสียหายหรือชำรุด คงไม่พ้นต้องได้รับการช่วยเหลือจากช่างตีเหล็กมืออาชีพเป็นแน่แท้ นอกจากเครื่องมือทางการเกษตรแล้ว ของใช้ในครัวเรือนและเครื่องมือช่าง เช่น มีด ค้อน สิ่ว ขวาน ฯลฯ ก็มีเหล็กเป็นส่วนประกอบเช่นกัน อาชีพตีเหล็ก จึงมีความสำคัญในสังคมเกษตรกรรมมาช้านาน
เดิมทีเดียว ชุมชนรอบตลาดบางหลวงมีโรงตีเหล็กสองโรง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงโรงเดียวคือ ร้านตีเหล็กศรีเจริญผล (เตียหง่วงฮะ) โดยคุณชาลี ศรีพุทธาธรรม ที่ใช้วิธีการตีเหล็กแบบดั้งเดิม จากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยเครื่องมือสำคัญของช่างตีเหล็ก มีดังนี้
1.เครื่องแทงแระเคียว การแทงแระเคียวคือการลับเคียวให้คมกริบพร้อมใช้งาน ช่วงเดือน 11-12 อันเป็นฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาในชุมชนบางหลวงและละแวกใกล้เคียงจะเดินทางมาที่ร้านเพื่อให้ช่างแทงแระเคียววันหนึ่งเป็นร้อยเล่ม ช่างต้องทำงานกันดึกดื่นแทบทุกวัน ตลาดบางหลวงจึงคึกคักไปด้วยเกษตรกร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างชาวนากับพ่อค้าในเรื่องต่าง ๆ
เครื่องแทงแระเคียว มีลักษณะคล้ายตะไบเหล็ก มีด้ามจับเป็นไม้ไผ่ยาว 11 นิ้ว ใบเลื่อยยาว 4นิ้ว ใช้แผ่นเหล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพับครึ่ง นำใบเลื่อยไปเสียบไว้ให้ฟันเลื่อยหันออกด้านนอกแล้วตอกให้แน่น เมื่อจะแทงแระเคียว ให้เอียงทำมุมประมาณ 45 องศากับคมเคียว เพื่อให้แระเคียวเป็นมุมเฉียงพ่อที่จะเกี่ยวข้าวให้ขาดได้ โดยต้องแทงให้ได้คมด้านที่ถูกต้อง เพราะเกษตรกรมีทั้งถนัดซ้ายและขวา
เคล็ดลับสำคัญคือ การชุบ ถ้าชุบแก่เกินไป แม้จะใช้เกี่ยวได้ถึงหนึ่งฤดูกาล แต่ถ้าถูกกระแทกแรง ๆ เคียวจะหักได้ แต่ถ้าชุบอ่อนเกินไป เกี่ยวจะสึกกร่อนง่าย ต้องชุบแบบนมเนยคือ ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ใช้สำหรับฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อเลิกใช้ก็เก็บไว้ ปีต่อไปจึงค่อยนำมาแทงแระใหม่
ค่าตอบแทนการแทงแระเคียว ช่างตีเหล็กจะได้เป็นข้าวเปลือก 1-1.5 กระบุง สำหรับเคียวหนึ่งเล่ม ช่างจะนำไปขายต่อโรงสีหรือเก็บไว้กินเองในครัวเรือนก็ได้
การแทงแระเคียวยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะบางชุมชนยังใช้วิธีลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจ้างรถเกี่ยวข้าวสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเกี่ยวหญ้าจำนวนน้อยเพื่อนำไปเลี้ยงวัวควายและการเกี่ยวข้าวตามคันนาที่รถเกี่ยวข้าวเข้าไม่ถึง เคียวจึงยังมีความสำคัญกับชาวนาอยู่จนปัจจุบัน
2. เครื่องสูบลมเตาตีเหล็กโบราณ ใช้สูบลมเพื่อเป่าไฟให้แรง ยิ่งถ่านร้อน เหล็กก็ยิ่งร้อนแดง สะดวกในการตีขึ้นรูป โดยเครื่องนี้มีลักษณะคล้ายโลงศพ กว้าง 19 นิ้ว ยาว 49 นิ้ว สูง 15 นิ้ว ขาโยกสูง 50 นิ้ว ภายในหีบมีกระดาษสาพับทบ ๒๐ ชั้น คล้ายหีบเพลง ยึดด้วยแกนเหล็ก เป็นแหล่งกำเนิดลม ช่างจะดึงขาโยกเข้า-ออกเพื่อปั๊มให้มีลมผ่านออกมา ช่วยเป่าไฟในเตาให้แรงขึ้น
3. เครื่องมือขูดคมเหล็ก เป็นการใช้เหล็กกล้าขูดเหล็กอ่อนให้คมบางและตกแต่งให้งานมีผิวเรียบสวยงาม
4. เครื่องมือห่อบ้อง เป็นเหล็กแข็งรูปตัวที (T) ด้านบนแหลมเรียว เล็กข้าง ใหญ่ข้าง ใช้เป็นแบบตีด้ามมีด เคียว เสียม ให้เป็นทรงกระบอกเพื่อสวมต่อกับด้ามไม้ และใช้ดัดเหล็กให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการ
นอกจากนี้ ชุมชนไทยทรงดำที่อยู่ใกล้กับชุมชนบางหลวง มักจะมาขอขี้เหล็กที่ร้านตีเหล็ก เพื่อเอาไปโรยที่บ้านและรั้ว เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันภูติผีปีศาจ บางครั้งก็นำเอาไปแช่น้ำดื่มหรือนำเด็กมาแช่ขาในรางชุบ ด้วยเชื่อว่าทำให้ขาเด็กแข็งแรงและไม่เจ็บป่วย
ปัจจุบัน ร้านตีเหล็กศรีเจริญผล เน้นไปที่การสาธิตตีเหล็กให้กับผู้สนใจ และมีการผลิตชิ้นงานตามสั่งบ้าง เช่น มีดหมอ ที่ผู้สั่งทำต้องการให้หยดเลือดในกระบวนการด้วย มีดที่ระลึก หรือเครื่องมือช่างลักษณะพิเศษ เป็นต้น แต่ต้องรอกันนานสักนิด เพราะคุณชาลีก็มีหน้าที่การงานอื่นด้วย ทั้งนี้ทางร้านอาจดำเนินกิจการได้อีกไม่นาน เพราะถ่านไม้ไผ่ที่เป็นเชื้อเพลิงเริ่มหายากและราคาแพง ตลอดจนไม่มีผู้สืบทอดองค์ความรู้การตีเหล็กแบบโบราณอีกแล้ว