ไชยาเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาณาเขตของเมืองไชยากว้างขวางมาก เป็นเมืองที่มีทุ่งนากว้างใหญ่ ราษฎรทำนาเป็นอาชีพหลัก มีข้าวหอมไชยาเป็นตัวชูโรง รวมทั้งข้าวจันทบูรณ์ และข้าวอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ชาวนาเมืองไชยาจึงมีเครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียกว่า "กรูด" หรือ "ตรูด"
กรูด ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีรูปร่างคล้ายม้าน้ำ ความยาวจากส่วนหัวถึงส่วนหางที่โค้งลง ประมาณ 30 ซม. ส่วนหัวมีลักษณะแบน มีโลหะคมสำหรับตัดรวงข้าว คมมีดกว้างประมาณ 7 ซม. ส่วนกลางเป็นด้ามจับ และส่วนหางมีลักษณะโค้งงอเพื่อสะดวกในการช้อนรวงข้าวให้เป็นฟ่อนขึ้นมาตัด เพราะข้าวหอมไชยามีลำต้นสูงระดับอก จึงต้องใช้ไม้กดข้าวให้โน้มลงแล้วใช้กรูดเกี่ยว จะได้ฟ่อนข้าวที่เหมาะสมในการเก็บและนวด
กรูดจะไม่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไป โดยชาวนาจะแสวงหาวัตถุดิบ ทั้งไม้เนื้อแข็ง เช่น กิ่งไม้เสม็ด และใบมีด แล้วจึงไหว้วานช่างที่มีประสบการณ์ให้ช่วยสร้างสรรค์ การทำกรูดใช้เวลานาน เพราะต้องโกลนไม้ให้เป็นรูปร่างก่อนแล้วจึงทิ้งให้แห้ง เพื่อนำมาตกแต่งแกะสลักเพิ่มเติม รวมทั้งใส่คมมีด กรูดบางอันมีลวดลายกนกสวยงามบ่งบอกถึงฝีมือช่าง อีกทั้งยังเป็นการอวดประชันกันในยามลงแขกเกี่ยวข้าว โดยการทำกรูดจะไม่มีอามิสสิ้นจ้าง เป็นการช่วยเหลือกันในหมู่บ้านและเครือญาติ ชาวบ้านจึงมักตอบแทนกันโดยการช่วยเหลืองานต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น
ปัจจุบัน ไม่นิยมใช้กรูดแล้ว เพราะไม่มีขายทั่วไปและหาช่างทำไม่ได้ ชาวนาจึงหันไปใช้เคียวแทน กระทั่งเทคโนโลยีก้าวหน้าจึงเปลี่ยนมาใช้รถเกี่ยวข้าวเพื่อความสะดวก อีกทั้งการทำนาในพื้นที่อำเภอไชยาลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทุ่งไชยามีสภาพเป็นนาขาดน้ำ เพราะแม่น้ำลำคลองตื้นเขินและแคบลง นาข้าวจึงแปรเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มแทน กรูดจึงไม่ได้เกี่ยวข้าว แต่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและศึกษาต่อไป
กรูด
อัพเดตเมื่อ 20 พ.ค. 2564
คำอธิบาย