ในสมัยก่อน วัวควายเป็นสัตว์สำคัญในวิถีเกษตร เกษตรกรจะนิยมเลี้ยงวัวควายฝูงใหญ่เพื่อใช้งาน เมื่อถึงเวลาอาหาร ก็ปล่อยหากินเองตามธรรมชาติ โดยวัวควายจะแขวน "กระดึง" ไว้ที่คอ เพื่อให้เจ้าของรู้ว่าอยู่ที่ใด
ชาวเหนือเรียกกระดึงว่า "ฮอก" โดยส่วนประกอบของฮอกคือ 1) ตัวฮอก ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ขุดด้านในจนกลวงแล้วบากเป็นร่อง เรียกว่า "ฮ่องฮอก" หรือ "ร่องฮอก" โดยเจาะลึกเท่าเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวฮอก หากเจาะฮ่องฮอกลึกหรือตื้นเกินไป เสียงจะไม่ดัง สมัยก่อนใช้เวลาในการทำหลายวัน เพราะต้องใช้เหล็กเผาไฟจี้เนื้อไม้ตรงกลางจนไหม้แล้วคว้านออก แต่ปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยคือสว่านเจาะไม้ ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็เสร็จ 2) หู สำหรับแขวน มีกระเดื่องสองข้างเพื่อแกว่งกระทบตัวฮอกให้มีเสียง
ฮอกมีสามประเภท คือ 1) ฮอกอันใหญ่ ใช้กับควาย เวลาปล่อยหากินในป่า 2) ฮอกกะแล่ม ใช้กับวัว มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ทำจากไม้ไผ่สีสุกที่ขึ้นเบียดกันอยู่ในกอจนมีรูปร่างแบน 3) ฮอกกิ๊ก เป็นฮอกขนาดเล็ก ใช้สวมคอวัวเทียมเกวียนหรือลูกวัวเพื่อความสวยงาม เช่น พาวัวไปตลาด ตัวฮอกกิ๊กทำจากไม้เนื้อแข็ง กระเดื่องทำจากกระดูกและร้อยต่อด้วยไม้ไผ่ ปัจจุบันใช้ท่อพีวีซีแทน ส่วนเชือปอที่ใช้ร้อยก็เปลี่ยนเป็นเชือกไนลอน
ก่อนจะนำวัวควายไปหาอาหารกิน เจ้าของจะใส่ฮอกให้ทุกตัว ถ้าเสียงฮอกเริ่มเบาหรือหายไป เจ้าของจะต้องรีบต้อนกลับมา เพราะออกหากินไกลเกินไป เมื่อต้อนวัวควายกลับคอกแล้วจะปลดฮอกออก เพื่อไม่ให้มีเสียงดังรบกวน และถ้ามีการการวัวควาย ก็ปลดฮอกออกเช่นกัน เพื่อนำฮอกไปใช้กับตัวอื่นต่อไป
ปัจจุบัน ไม่นิยมเลี้ยงวัวควายโดยการปล่อยหากินตามทุ่งหญ้าป่าเขาแล้ว การผลิตและใช้ฮอกตามจุดประสงค์เดิมจึงลดลง บางครัวเรือนจึงนำฮอกไปแขวนไว้ที่ประตูบ้าน เป็นสัญญาณเตือนว่ามีผู้บุกรุก นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยแท้
กระดึง
อัพเดตเมื่อ 12 พ.ค. 2564
คำอธิบาย