ใช้แขวนคอวัวหรือควายเพื่อบอกเสียงสัญญาณของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้รู้ว่ากำลังหากินอยู่ที่ใด ที่เรียกว่าปกหลก เพราะเรียกตามเสียงที่ได้ยินอุปกรณ์นี้กระทบกันดัง “ปก-หลก” ภาคอีสานได้ยินว่า “โปง-โปง” จึงเรียกว่าไม้โปง
การเลี้ยงสัตว์ในสมัยก่อน จะปล่อยตามธรรมชาติ เมื่อเสร็จจากการทำไร่นา เจ้าของจะผูกปกหลก เกราะ หรือกระดิ่ง ที่คอสัตว์ แล้วปล่อยให้ออกหากินตามท้องทุ่ง เมื่อเจ้าของจะออกตามหาวัวควายของตน จะฟังจากเสียงปกหลกเป็นสำคัญ ในเวลาต่อมา บ้านเมืองเริ่มมีโจรขโมย ชาวบ้านต้องกั้นคอกวัวควายไว้ใกล้เรือน ต้องคอยต้อนฝูงสัตว์ให้ออกหากินและกลับเข้าคอก และเฝ้าดูเวลาสัตว์เลี้ยงกำลังแทะเล็มหญ้าอยู่ โดยจะนิยมแขวนปกหลกไว้ที่ตัวเมีย เพราะมักหากินในที่ไกล ๆ
การทำปกหลก เริ่มจากการเสาะหาไม้ไผ่ป่าหรือไม้สีสุก ลำโต แก่จัด เนื้อแน่น และหนา ความยาวประมาณหนึ่งปล้อง ตัดเหลือข้อหัวท้าย ปอกเอาผิวไม้ไผ่ออก คว้านกระบอกด้านหนึ่งเป็นรางยาว ใช้ไม้ตีลองเสียงอยู่เสมอ หากเสียงดังไม่พอใจ ก็คว้านรูให้ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ โดยการลองเสียงจะนำปล้องไม้ไผ่แช่น้ำแล้วตี เป็นการจำลองสภาพยามวัวควายลงไปในน้ำแล้วปกหลกเปียก บางครั้งใช้วิธีตัดไม้ให้สั้นเพื่อให้เสียงดัง การลองเสียงปกหลก เรียกว่า “การสินน้ำ” จากนั้นจึงทำลูกปกหลกหรือลูกเกราะไว้แกว่งตีภายในราง แล้วจึงใช้เชือกร้อยรูเพื่อผูกคอสัตว์
ตอนกลางคืน เจ้าของจะนำเศษใบไม้หรือเศษหญ้าอัดไว้ในรางปกหลก เพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงดัง เพราะจะรบกวนเวลานอนหลับพักผ่อน
ปกหลก
อัพเดตเมื่อ 24 เม.ย. 2564
คำอธิบาย