ไม้เป้เกี๊ยะ



คำอธิบาย

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนในอดีตทำอาชีพประมง หาปูปลาในทะเล รวมทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นน้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาแห้ง และที่สำคัญคือ กะปิ

กะปิ ทำจาก "เคย" หรือ "กุ้งตัวเล็ก หมักกับเกลือ แต่กะปิของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมีเคล็ดลับมากกว่านั้น เริ่มจากการเลือกใช้เฉพาะ "เคยโก่ง" ที่เป็นเคยตัวใหญ่ จับได้ในช่วงฤดูหนาว เพราะถ้าใช้ "เคยตาดำ" หรือเคยตัวเล็กที่จับได้ในฤดูฝน เนื้อกะปิจะมีจุดสีดำจากตาของเคยกระจายไปทั่ว ทำให้ไม่อร่อยและไม่สวยงาม จากนั้นจึงล้างเคยให้สะอาด คลุกกับเกลือในสัดส่วนที่พอเหมาะ ใส่ถังไม้โอ๊กหรือตะกร้าใบใหญ่ หมักไว้หนึ่งคืน แล้วนำมาตากแดดตอนเช้าบนตาข่ายไนลอนตาถี่ โดยใช้ "ไม้เป้เกี๋ยะ" เกลี่ยเคยหมักให้แผ่เป็นชั้นบาง ๆ จนเคยแห้งสนิท เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น จากนั้นจึงนำไปตำหรือโม่ จนได้กะปิเนื้อเนียน นำไปอัดใส่ภาชนะหรือโอ่งให้แน่น ไม่ให้มีช่องอากาศ ปิดฝาหมักไว้ราว 10-15 วัน จะได้กะปิกลิ่นหอมพร้อมรับประทานหรือจัดจำหน่าย

ข้อควรระวังคือ ขณะตาก จะปล่อยให้กะปิถูกฝนหรือน้ำไม่ได้ เพราะจะทำให้กะปิมีกลิ่นตุ ถ้าวันที่แดดดี ใช้เวลาตากเพียงหนึ่งวัน แต่ถ้าครึ้มฟ้าครึ้มฝน อาจใช้เวลานานกว่านั้น บางครั้งต้องเก็บกะปิเข้าและออกเพื่อหนีฝนวันละหลายรอบก็มี

"ไม้เป้เกี๋ยะ" เป็นเครื่องมือเกลี่ยให้กะปิกระจายตัวและแห้งเสมอกัน มีรูปร่างคล้ายคราด ประกอบด้วยด้ามและตัวยึดเขี้ยว ทำจากไม้เนื้อแข็งทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านล่างเรียบ เจาะรูสำหรับใส่ซี่ไม้ไผ่ หรือ "เขี้ยว" ปกติจะมีสี่เขี้ยว แต่ถ้าใครแรงเยอะอาจเพิ่มเป็นห้าหรือหกเขี้ยวก็ได้ ความยาวของด้ามจับ จะอยู่ที่ส่วนสูงและพละกำลังของผู้ใช้ เขี้ยวยิ่งมากและด้ามจับยาว ไม้จะหนักและใช้งานยาก