การขุดหาแร่เป็นอาชีพเก่าแก่ของผู้คนแถบอันดามัน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คอนสแตนติน ฟอลคอน บันทึกไว้ว่า การขุดดินร่อนหาแร่ดีบุกเป็นอาชีพสำคัญของคนบนเกาะภูเก็ต ทั้งนี้อุปกรณ์หาแร่ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณคือ "เลียง"
เลียงทำจากไม้เนื้อแข็งเส้นผ่าศูนย์กลาง 55 ซม. รูปทรงคล้ายกระทะ ลึก 8 ซม. ไม้ที่ใช้ทำเลียง ชาวบ้านเรียกว่าไม้หลุมพอ แต่ถ้าจะให้ดีจริงต้องใช้ไม้พอนของลำต้นที่แตกปีกออกมาเป็นแผ่นที่มีความหนาพอ เพราะพอนไม้ที่แตกปีกออกมา เนื้อภายในจะสานกันแน่น เลียงจะทนทาน โดยเลียงลูกหนึ่งจะใช้เวลาทำหลายวัน เพราะต้องตากแห้งจนเนื้อไม้แห้ง แล้วจึงใช้ขวานถากให้ได้รูปทรงคล้ายกระทะ จากนั้นจึงใช้สิ่วหรือกบไสไม้เก็บรายละเอียด และขูดผิวหน้าให้เรียบด้วยเศษกระเบื้องหรือขวด ถ้ายังไม่ละเอียดพอ ให้ใช้หนังปลากระเบนขัดจนเรียบ แล้วจึงนำไปตากในร่มจนกว่าเนื้อไม้จะแห้ง ก่อนนำไปใช้งาน
เราใช้เลียงร่อนหาแร่ตามลำคลองที่รับน้ำที่ไหลมาจากเหมือง โดยจะขุดดินทรายที่คาดว่าจะมีแร่ใส่ในเลียง แล้วอาศัยแรงเหวี่ยงของน้ำไล่ดินและสิ่งอื่นที่เบากว่าแร่ออกไปกับน้ำ จนเหลือแต่แร่ที่ส่วนก้นของเลียง คนที่ชำนาญมาก ๆ จะล้างแร่ได้สะอาดแล้วนำไปขายโดยไม่ต้องนำไปล้างด้วย "ไถ้" อีกรอบหนึ่ง
คุณแม่บี้ซิ้ม พึงสงวน ชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ชำนาญในการร่อนหาแร่ตามแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นคนล้างตัวอย่างแร่ในกระบวนการสำรวจปริมาณและคุณภาพของแร่ก่อนเปิดเหมืองให้กับหลายบริษัท โดยคนล้างตัวอย่างแร่ต้องเป็นคนที่นายเหมืองไว้ใจว่าเก็บความลับได้และซื่อสัตย์ เพราะต้องอยู่กับคณะสำรวจหาแร่ และต้องสังเกตคนที่มามุงดูการล้างแร่ว่าประสงค์ดีหรือไม่ เพื่อป้องกันการตัดหน้าชิงที่ดินทำเหมืองแร่
ด้านคุณพ่อเฉ่งซิ่ว พึงสงวน สามีของคุณแม่บี้ซิ้ม จะหาแร่โดยการทำเหมืองแล่นบนภูเขา โดยสร้างแหล่งกักเก็บน้ำมาใช้ทำเหมืองขึ้นเอง ช่วงน้ำน้อยไม่พอทำเหมืองก็เปลี่ยนไปทำสวนทุเรียน และทำเลียงให้คนในครอบครัวใช้ร่อนหาแร่
ราวปี 2526-2528 เหมืองแร่ขนาดใหญ่ปิดกิจการลง ทำให้ชาวบ้านต้องเลิกหาแร่ เพราะไม่มีผู้รับซื้อ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับเบ่งบาน หลายครอบครัวจึงผันตัวจากการหาแร่ไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ลืมว่าในอดีตการหาแร่คืออาชีพสำคัญของครอบครัวและเคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างดี
เลียง
อัพเดตเมื่อ 13 พ.ค. 2564
คำอธิบาย