ปานหรือพาน คือ ภาชนะสำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้ผีเรือนและเทวดา มีรูปร่างลักษณะเป็นถาดกลม มีขาเป็นขอบทึบทรงสูง ดูลักษณะภายนอกเป็นรูปทรงกระบอกสานด้วยไม้ไผ่ขัดกันเป็นตาหกเหลี่ยมคล้ายตาชะลอม ความกว้าง ๗๐-๘๐ เซนติเมตร สูง ๓๕-๕๐ เซนติเมตร มีขอบทั้งด้านบนและด้านล่างของพาน ลักษณะคล้ายโตกของชาวไทยภาคเหนือ หรือพาน เพราะมีขาสูง ทำให้ก้นพานไม่ติดพื้น เป็นการชูส่วนที่จัดวางแต่งเครื่องเซ่นต่าง ๆ ให้สูงขึ้น
ปานเผือน เป็นภาชนะไว้ใส่อาหารในพิธีเซ่นไหว้ผีเรือน ลักษณะกลม ยกพื้นสูง ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ด้านข้างมีลวดลายจาการจักสาน เมื่อใดที่พูดว่า “แต่งปานเผือน” หมายถึง การแต่งสำรับเพื่อเซ่นไหว้ผี ส่วน ปานขวัญ ใช้ในพิธีเซ่นไหว้ในพิธีเรียกขวัญและพิธีแต่งงาน
ชาวไทดำมีการจัดพิธีไหว้ผีเฮือนและเซ่นไหว้ผีในพิธีต่าง ๆ เป็นประจำ ดังนั้น ปานจึงเป็นเครื่องใช้ประจำบ้านที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องผีที่จะไม่นำมาใช้นอกเหนือจากการเซ่นไหว้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะปานเผือนที่เซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ในพิธีจะมีการยกปานเผือนของญาติพี่น้องร่วมผีอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อเคารพเซ่นไหว้ผีเฮือนของกลุ่มเครือญาติตน