คำอธิบาย
หมอนไม้เป็นของใช้พื้นบ้านสำหรับหนุนนอนของคนแก่เฒ่าที่ไปถือศีลภาวนาในวันพระ ซึ่งในช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้านทุกถิ่นในชนบท โดยเฉพาะคนสูงอายุจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านทุกวันพระ เพราะระยะนี้ ภิกษุและสามเณรจะจำพรรษาที่วัดตลอดสามเดือน ชาวบ้านบางคนลด ละ เลิก ประพฤติผิดในระหว่างเข้าพรรษา เช่น ไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นการพนัน เป็นต้น ในวันพระจะมาทำบุญ สวดมนต์ ตั้งแต่เช้าถึงเย็นมิได้ขาดแม้แต่วันพระเดียว
การที่ผู้เฒ่าผู้แก่มาทำบุญรักษาศีลอยู่บนศาลาหรือในอุโบสถตลอดวัน ต้องมีการพักผ่อนหลังจากสวดมนต์เสร็จแล้วคือช่วงเวลาหลังเพล ชาวบ้านเชื่อว่าการรักษาศีลที่วัดควรละกิเลสและความสะดวกสบายต่าง ๆ แม้แต่หมอนที่หนุนนอนก็ไม่ควรอ่อนนุ่ม ดังนั้นจึงทำหมอนไม้ไว้หนุนนอนยามต้องไปรักษาศีลที่วัด
หมอนไม้ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้สัก โดยวิธีทำจะตัดไม้แผ่นที่เลื่อยไว้แล้วมีความหนา ๓-๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ยาว ๒๐-๒๕ เซนติเมตร ใช้กบไสแผ่นไม้ทั้งสองด้านให้เรียบ ผ่าแผ่นไม้ (จักไม้) ทั้งสองข้างให้เป็นไม้สองแผ่น การผ่าไม้ จะผ่าไม่ตลอด จะเหลือตรงกลางแผ่นไม้ไว้ประมาณสองนิ้ว แล้วจึงใช้สิ่วเจาะไม้ให้เป็นเดือยขัดกันประมาณ ๕-๖ เดือย เจาะสลับกันไปแต่ละเดือย โดยเจาะสลับกันในแต่ละด้านของแผ่นไม้ด้วย การเจาะเดือยไม้ จะเจาะไปถึงไม้ที่ผ่าซีก เมื่อเจาะเดือยทั้งสองด้านของแผ่นไม้ แผ่นไม้จะแยกออกเป็นสองแผ่น และยึดติดกันด้วยเดือยที่เจาะ ขัดผิวให้เรียบด้วยกระดาษทรายแต่ถ้าเป็นสมัยโบราณจะใช้หนังปลากระเบนขัด เวลาใช้ให้ตั้งแผ่นไม้ขัดกันเป็นกากบาท เวลาเก็บก็พับให้เรียบเหมือนเป็นไม้แผ่นเดียวได้
คนแก่เฒ่ามักใช้สไบหรือผ้าขาวม้ารองที่หมอนไม้ก่อนหนุน จะได้นอนได้สะดวก ไม่เจ็บเกินไป นอกจากใช้หนุนนอนแล้ว ยังใช้เป็นที่วางอ่านหนังสือได้ด้วย