โฮ่



คำอธิบาย
โฮ่เป็นภาชนะสำหรับใส่เศษผ้า ด้าย เข็ม กรรไกร เครื่องเย็บปักถักร้อยของหญิงชาวไทดำ ทำจากไม้ไผ่สานและหวาย มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเตี้ย ไม่มีฝาปิด ด้านบนเป็นกระจาดสำหรับบรรจุสิ่งของ ส่วนก้นกระจาดจะตื้นไม่ถึงพื้น  ก้นกระจาดสานด้วยลายตะแหลวฮ่อ รอบๆ ตัวโฮ่สานด้วยการยกดอกและลวดลายต่างๆ ตามใจชอบ 
 
การทำโฮ่เริ่มจากสานกระจาดหรือหาบเข่ง ส่วนที่เป็นก้นและตัวกระจาดไม่มีขอบเตรียมไว้ กระจาดจะสานด้วยลายตะแหลวฮ่อรูปหกเหลี่ยม จากนั้นจึงสานตอกเป็นลวดลายยกดอกหรือตัวอักษร อาจมีการย้อมตอกให้เป็นสีเพื่อให้เห็นลวดลายชัดเจน สานขึ้นเป็นทรงกระบอกกลวงเตรียมไว้ให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับปากของกระจาด จากนั้นจึงนำกระจาดก้นหกเหลี่ยมและตัวทรงกระบอกนี้สวมกันให้ขอบกระจาดติดกับขอบทรงกระบอกด้านบน แล้วใช้ไม้ไผ่ประกบทำขอบ ส่วนฐานด้านล่างของทรงกระบอกนี้ใช้ไม้ไผ่ประกบเข้าขอบเป็นฐาน ผูกมัดด้วยหวายถักให้มีความละเอียดทั้งขอบบนขอบล่าง ที่ก้นของโฮ่ใช้ไม้ไผ่ 3 อันขัดด้านใต้ไว้เพื่อความแข็งแรงด้วย
 
บริเวณขอบปากและฐานด้านล่างของโฮ่นั้นจะมีการมัดหวายที่ละเอียด ประณีตเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายมัดหวายเดี่ยว ลายมัดหวายคู่ ลายมัดสามหวาย ลายมัดห้าหวาย ลายจูงนาง ลายกระดูก ลายสันปลาช่อน ลายกวางเหลียวหลัง การมัดหวายเป็นลวดลายดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับภาชนะเท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเรียบร้อยและฝีมือในการตกแต่งงานสานให้มีคุณค่าเพิ่มยิ่งขึ้น และเนื่องจากโฮ่เป็นภาชนะสำหรับใส่อุปกรณ์เย็บปักถักร้อยหรืองานผ้าซึ่งเป็นงานสำหรับสตรีชาวไทดำ ดังนั้นหนุ่มชาวไทดำจึงมักจะสานโฮ่ไว้ให้เป็นของฝากหรือสำหรับจีบหญิงสาวชาวไทดำนั่นเอง ยิ่งมีการมัดหวายที่ละเอียด สวยงาม ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความละเอียดและความเอาใจใส่ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่หญิงสาว
วิถีชีวิตของชาวไทดำนั้นมีการแบ่งหน้าที่หญิงชายกันค่อนข้างชัดเจน โดยผู้ชายจะมีหน้าที่ทำงานหัตถกรรมเกี่ยวกับไม้เช่นการสานภาชนะไม้ไผ่ หวาย ขณะที่ผู้หญิงจะทำงานหัตถกรรมเกี่ยวกับผ้าเป็นหลัก โฮ่ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมไม้ไผ่สานซึ่งถูกนำไปใช้งานเกี่ยวกับงานผ้า ทำให้โฮ่นอกจากจะเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับสานสัมพันธ์สำหรับหนุ่มสาวอีกด้วย อีกทั้งโฮ่ยังเป็นภาชนะที่ต้องติดตัวหญิงสาวชาวไทดำเพื่อใส่อุปกรณ์เย็บปักถักร้อยต่างๆ โฮ่ที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของหญิงสาวผู้นั้นด้วยเช่นกัน
 
ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการประดิษฐ์หรือใช้งานโฮ่เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ชาวไทดำต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ จึงไม่มีผู้สืบสานงานหัตถกรรมชิ้นนี้มากเท่าแต่ก่อน จึงเหลือแต่ผู้สูงอายุในชุมชนชาวไทดำที่ยังสามารถประดิษฐ์โฮ่ได้อยู่