เตารีดโบราณ



คำอธิบาย
คนไทยชาวบ้านสมัยก่อนจะไม่พิถีพิถันเรื่องการแต่งกายมากนัก เวลาอยู่บ้าน ผู้ชายจะไม่ใส่เสื้อ นุ่งเพียงผ้าขาวม้า โสร่ง หรือกางเกงขาก๊วย ผู้หญิงใส่เสื้อคอกระเช้า นุ่งโจงกระเบนหรือผ้าถุง หากต้องออกไปทำงานตามเรือกสวนไร่นาก็จะเป็นเสื้อผ้าเนื้อหยาบ ไม่นุ่มลื่น แต่หากมีงานบุญหรือมหรสพ ชาวบ้านที่มีฐานะจะใส่เสื้อผ้าอย่างดีเพื่อไปร่วมงานสำคัญ จึงต้องมีอุปกรณ์สำหรับทำเสื้อผ้าให้เรียบเพื่อความสวยงามเช่นเตารีด
 
เตารีดถ่าน สมัยก่อนเรียกว่า “อุดเตา” ทำด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักมากเพื่อช่วยให้ผ้าเกิดความเรียบเมื่อถูกเตารีดกดทับ ก้นเตารีดเรียบแบน มีฝาปิด และด้ามจับทำจากไม้ เวลารีดผ้า ต้องใช้ถ่านร้อน ๆ ใส่เข้าไปด้านใน เพื่อให้เหล็กร้อน จะทำให้รีดผ้าได้เรียบ แต่ถ้าเหล็กร้อนเกินไปจนทำให้รีดเสื้อผ้าได้ติดขัด ก็จะนำเตารีดไปนาบกับใบตองเพื่อให้รีดเรียบลื่นขึ้น
 
ปัจจุบัน เราใช้เตารีดไฟฟ้าแทบจะทุกครัวเรือนแล้ว เพราะสะดวกกว่าเตารีดใส่ถ่าน ทั้งน้ำหนักและการควบคุมความร้อน คงมีเพียงรูปทรงเท่านั้นที่ใกล้เคียงของเดิมอยู่