คำอธิบาย
ชนาง เป็นเครื่องมือสำหรับช้อนปลาหรือช้อนกุ้งในแม่น้ำลำคลอง มีสามขนาดคือ เล็ก กลาง และใหญ่
ชนางขนาดเล็ก สานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายขัด มีลักษณะปากกว้าง ก้นสอบลึกคล้ายบุ้งกี๋ มีขอบเป็นไม้ไผ่หวายหรือไม้เพื่อใช้เป็นมือจับ และทำให้มีความแข็งแรงทนทานในการใช้งาน ชนางขนาดเล็กจะใช้ไม้ไผ่สีสุกนำมาผ่าแล้วจักเป็นตอก หากตอกยาวชนางจะกว้างใหญ่ ขนาดของชนางจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สานและผู้ใช้ ชนางขนาดเล็ก เวลาใช้จะจับที่ขอบปากชนางช้อนเข้าหาตัวในลักษณะเดินถอยหลัง หรือจับขอบส่วนกึ่งกลางของชนางทั้งสองข้างเดินช้อนไปข้างหน้าก็ได้ ชนางขนาดเล็กนิยมใช้ในบริเวณห้วงน้ำแคบ ๆ ใช้ช้อนกุ้งและปลาตัวเล็ก
ชนางขนาดกลาง มีลักษณะเหมือนชงโลงวิดน้ำแต่แทนที่จะสานด้วยตอกไม้ไผ่ จะเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นกลมเล็ก มัดด้วยเส้นหวายหรือลวดสูงท่วมหัว กว้าง ๒-๓ เมตร ถ้ามัดห่างกันมาก ปลาจะลอดออกไปได้ง่าย แต่ถ้ามัดชิดกัน เวลาใช้จะหนักมาก เพราะน้ำไม่สามารถลอดช่องไม้ไผ่ไปได้สะดวกนัก ก้นชนางใช้ไม้ไผ่ไขว้กันเป็นกากบาทเพื่อใส่เอวเวลาช้อนปลา ปากชนางจะมีขนาดใหญ่ ก้นสอบลึก ชนางประเภทนี้มักใช้กับเรือพายโดยมีคนพายท้ายเรือ ส่วนคนที่อยู่หัวเรือจะเป็นคนช้อนปลา ตอนพายเรือให้ปากชนางจุ่มลงผิวน้ำหันไปข้างหน้า เมื่อถึงแหล่งที่คาดว่ามีปลาอาศัยอยู่ก็ยกปากชนางขึ้น เมื่อได้ปลาก็จะจับใส่ข้องหรือทิ้งไว้ในเรือ ชนางขนาดกลางบางพื้นที่เรียกว่า “คัดซ้อน” ซึ่งถักเป็นตาข่ายขอบเป็นสามเหลี่ยมมีด้ามจับ ใช้เรือพาย
ชนางขนาดใหญ่ ไม่สามารถจับหรือช้อนปลาไปข้างหน้าได้ มีรูปคล้ายสามเหลี่ยมก้นลึก ทำโครงไม้ไผ่โค้งเพื่อให้ปลาไปอาศัยอยู่ภายในชนางได้ สานด้วยผิวไม้ไผ่ยาวเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยม มีขาเป็นไม้ไผ่สองลำ เวลาใช้ต้องหย่อนตัวชนางลงไปในน้ำให้ปลายขาไม้ไผ่โผล่พ้นน้ำ ใช้เศษไม้ใบหญ้า อาหารปลา เช่น รังมดแดง รังปลวก ใส่ไปในตัวชนาง ทิ้งชนางไว้นานหลายวัน เมื่อคาดว่าปลาเข้าไปอาศัยอยู่แล้วจึงยกชนางขึ้น ชนางประเภทนี้มักวางไว้ริมฝั่งแม่น้ำลึก ๆ หรือกลางแม่น้ำ เวลายกชนางต้องพายเรือไปยกชนางขึ้น ก้นชนางจะมีรูปิดเปิด เพื่อให้ปลาลอดช่องลงมาในปากข้องหรือกระชังที่เตรียมรองรับปลาไว้