กะสา



คำอธิบาย
กะสาเป็นสวิงสำหรับช้อนปลา ปากเป็นรูปสามเหลี่ยมผูกติดกับด้ายถักตาโปร่งแบบสวิงทั่วไป ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช้อนปลา กุ้งในบริเวณน้ำตื้นๆ ของชาวไทดำ ทำจากการถักด้ายให้เป็นตาโปร่งและเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ โดยเริ่มจากการนำด้ายถักเข้าตัวชุน เริ่มใช้ชุนถักตั้งแต่ก้นของสวิงเรื่อยไปจนถึงขอบปากสวิงยาวประมาณ 140 เซนติเมตรและปากกว้างประมาณ 100 เซนติเมตร ทำขอบปากสวิงด้วยไม้ไผ่ดัดให้เป็นรูปสามเหลี่ยมมุมมน ใช้สวิงที่ถักเสร็จแล้วร้อยด้วยหวายแล้วนำมาผูกติดกับขอบปากสวิง
 
การจับปลาด้วยกะสาของชาวไทดำนั้นมีความสำคัญทางสังคมมาก โดยเฉพาะการจับปลาด้วยกะสาของผู้หญิงชาวไทดำ เพราะเทคนิคการจับปลาด้วยกะสาต้องอาศัยความร่วมมือของคนในจำนวนที่มากพอสมควรคือตั้งแต่ 7-8 คน จนถึง 40-50 คน แล้วแต่พื้นที่ที่จะทำการจับปลาและฤดูกาลในการจับปลา ช่วงเวลาที่จะทำการจับปลาอย่างจริงจังจะอยู่ในช่วงหลังเกี่ยวข้าวนาปี หรือประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ส่วนการจับปลานอกฤดูกาลในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนก็มีอยู่พอสมควร
 
การจับปลาเป็นกลุ่มใหญ่มักจะมีการเคลื่อนย้ายไปจับในแหล่งที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านแต่สามารถไปกลับได้ในวันเดียว โดยจะต้องมีการนัดหมายกันล่วงหน้าและไปติดต่อว่าจ้างรถซึ่งมักเป็นของคนในหมู่บ้าน คนที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเรียกว่า “คนนัดแขก” โดยปกติค่ารถเฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 20-30 บาท บางครั้งคนที่ไปหาปลามาก็ได้ไม่คุ้มกับค่ารถ แต่คนที่ไปก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือมองว่าเป็นกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ แต่จะมองว่าเป็นกิจกรรมที่ได้มีความสนุกสนานร่วมกันมากกว่า นอกจากนี้การจับปลาด้วยกะสายังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์และสะท้อนความคิดเรื่องความร่วมมือและความเท่าเทียมในเรื่องโอกาสของการเข้าถึงทรัพยากร เพราะในการจับปลาแบบนี้จะมีการตั้งแถวอย่างเป็นระเบียบ เพื่อสามารถจับปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสจะได้ปลาทั่วถึงทุกคน กล่าวคือ พวกผู้หญิงจะยืนกันอย่างเป็นระเบียบในแนวทแยงขวางลำคลองที่ไม่ลึกมากนัก แต่ละคนจะตั้งขอบกะสาแนบกับพื้นพื้น กระแสน้ำก็จะพัดเอาปลามาเข้ากะสา ลักษณะการจัดระเบียบแถวแบบนี้ทำให้ตำแหน่งที่อยู่ตรงมุมแหลมเป็นตำแหน่งที่ได้เปรียบ เพราะมีโอกาสที่จะจับปลาได้มากกว่าคนที่อยู่ตรงมุมป้าน จึงต้องมีการเปลี่ยนตำแหน่งกันตลอดเพื่อความยุติธรรม โดยคนที่อยู่ตรงมุมแหลมก็จะเปลี่ยนเวียนมาอยู่ที่มุมป้าน จนในที่สุดคนที่อยู่มุมป้านก็จะไปอยู่ตรงมุมแหลม ในขณะที่ผู้ชายจะจับปลาด้วยแห การจับปลาของผู้ชายจะเป็นกิจกรรมเฉพาะบุคคลมากกว่าจะทำร่วมกันเป็นกลุ่มแบบผู้หญิง
ในช่วงนอกฤดูกาลจับปลาชาวบ้านมักจะจับปลาได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนในแต่ละวัน แต่ในช่วงงฤดูกาลจับปลา แต่ละบ้านก็จะจับปลาได้เป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะนำไปขายตามตลาดและทำปลาร้าใส่ไหไว้กินในภายหลัง 
 
นอกเหนือจากการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการใช้กะสาสำหรับประกอบในพิธีกรรมด้วย เช่นพิธีกรรมซ่อนขวัญหรือช้อนขวัญให้กับผู้เจ็บป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ เป็นการเรียกขวัญของผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุให้กลับคืนมา และยังมีการทำพิธีซ่อนขวัญในพิธีศพของชาวไทดำด้วย โดยจะทำในช่วงที่จะนำศพไปยังป่าช้าโดยใช้กะสาใส่เสื้อผ้าของญาติของผู้ตายรองไว้ที่ก้น ซ่อนขวัญญาติของผู้ตายไว้เพื่อป้องกันขวัญญาติของผู้ตายมิให้ติดตามคนตายไป