คำอธิบาย
แม่น้ำนครชัยศรีราว ๒๐-๓๐ ปีก่อน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานา เหล่าบรรดาชาวบ้านริมน้ำ จึงนิยมล่องเรือเพื่อตกกุ้งแม่น้ำด้วยเบ็ดตกกุ้งที่ทำกันง่าย ๆ จะนำมาขายต่อหรือปรุงเป็นอาหารมื้ออร่อยในครัวเรือนก็สุดแล้วแต่ ซึ่งอาวุธคู่กายที่สำคัญของเหล่านักตกกุ้งคงหนีไม่พ้น “เบ็ดตกกุ้ง”
เบ็ดตกกุ้งมีความต่างจากเบ็ดตกปลาทั่วไป เพราะต้องเหลาจากไม้ไผ่เลี้ยง ด้วยเหตุว่ามีความยืดหยุ่นกำลังดี เพื่อให้ดึงกุ้งขึ้นจากน้ำด้วยน้ำหนักที่ไม่แรงเกินไป มิเช่นนั้นกุ้งจะหลุดจากเบ็ด คันเบ็ดจะยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ด้านมือจับขนาดพอดีมือ ปลายเรียว ตอกตะปูไว้บริเวณมือจับ เพื่อเป็นหลักสำหรับม้วนเอ็น ส่วนปลายคันเบ็ด เจาะรูเล็ก ๆ ไว้ เพื่อร้อยเอ็นลอดผ่าน ตรงปลายเอ็นจะมีตะขอเบ็ด โดยนักตกกุ้งแต่ละคนก็จะมีการเลือกเหยื่อต่างกันไป บ้างใช้เครื่องในไก่ บ้างใช้หนอนเล็ก ๆ เบ็ดบางคันจะติดกระดิ่งไว้ที่ปลายคันเบ็ด เพื่อเป็นสัญญาณเวลาที่กุ้งมาติดเบ็ด เมื่อดึงกุ้งขึ้นมาได้แล้วจะนำกุ้งมาใส่ไว้ในกระชังที่ติดอยู่ข้างเรือก่อนจะนำขึ้นฝั่งต่อไป
ปัจจุบัน ชาวบ้านริมแม่น้ำนครชัยศรีไม่นิยมล่องเรือเพื่อตกกุ้งกันแล้ว เพราะกุ้งแม่น้ำตามธรรมชาติมีจำนวนน้อยลง และไม่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่มีความสะดวกสบายในด้านอาหารการกิน การตกกุ้งด้วยเบ็ดไม้ไผ่จึงกลายเป็นเพียงงานอดิเรกที่นาน ๆ เราจะเห็นสักครั้ง