กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในช่วงฤดูแล้งจะหลบซ่อนตัวเองอยู่ในโพรง ในรู จะออกมาเมื่อต้นฤดูฝน เมื่อมีฝนตกหนัก เพื่อผสมพันธุ์วางไข่ ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน เป็นลูกอ๊อดแล้วกลายเป็นลูกกบอาศัยหากินตลอดในช่วงฤดูฝนตามท้องทุ่งนา กระทั่งเข้าต้นฤดูหนาว น้ำในท้องนาเริ่มแห้ง ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว กบจะหลบเข้าไง “ไง” คือ โพรงตื้น เล็กๆ ที่กบทำขึ้นใช้ดินหรือใบไม้ปิดปากโพรงหรือหลบอาศัยอยู่ในรูปู ที่ปูขุดใช้เป็นที่หลบความร้อนแล้ง กบจะเข้าร่วมอยู่กับปูในรูเดียวกันแบบภาวะอิงอาศัย ระยะประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงราวเดือนพฤษภาคม โดยไม่ออกมาภายนอกอีก เรียกว่า กบจำศีล
ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน อาหารจากธรรมชาติที่เป็นสัตว์น้ำจะเริ่มขาดแคลนเมื่อสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะใช้เครื่องล่าและเครื่องดักจับ ใช้ล่าสัตว์ ขณะเดียวกันแม่บ้านจะช่วยเติมเต็มให้ครอบครัว โดยใช้เครื่องมือจับสัตว์ เช่น สวิง ตะแกรง ตาข่าย สุ่ม ยอ เสียม เสาะหาจับสัตว์น้ำ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารให้ผ่านพ้น แบบวันต่อวัน ขอกบเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาอาหารอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้หญิงและผู้ชายใช้แก้ปัญหา
ขอกบ เป็นเครื่องมือล่าจับกบ ทำจากเส้นลวดขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 เมตร ที่ปลายโค้งงอเป็นตะขอ ใช้เกาะเกี่ยวดึงกบให้ออกจากรู โดยจะออกหาบริเวณคูคันนา ริมแหล่งน้ำทั่วไป เมื่อพบรูปูจะใช้กิ่งไม้ยาวๆ แหย่ลงสุดรู เพื่อคะเนความลึกและหาร่องรอยกบจากนั้นจะดึงกิ่งไม้ขึ้น ใช้ปลายไม้เช็ดที่ฝ่ามือหากมีน้ำติดฝ่ามือแสดงว่ามีกบ ชาวบ้านรู้ว่าถ้ามีอะไรกระทบตัวกบให้ตกใจ กบจะฉี่ออกมาตามธรรมชาติ และฉี่นั้นจะรดติดที่ปลายไม้ทำให้รู้ว่ามีกบจึงใช้ปลายตะขอ ลงควานหาเกี่ยวตัวกบ ตะขอจะเกี่ยว คอ คาง ขา หรือตัวกบ ก็จะดึงขึ้นมา บางครั้งดึงขึ้นมาโดยง่าย แต่บางครั้งกบอาจติดขัดภายในรู หากใจร้อน ฝืนดึงขึ้น อาจทำให้ตัวกบฉีกขาด จึงใช้เสียมช่วยขุด เพื่อจับกบออกจากรูปู
ก่อนที่กบจะเข้าไงหรืออาศัยร่วมในรูปู กบจะหากินอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องทุ่ง สะสมอาหารสร้างไขมัน เพื่อใช้เป็นพลังงานให้มีชีวิตอยู่ได้ตลอดฤดูแล้งร้อนโดยไม่ออกมาหากินอีก กบตัวเมียจะสร้างไข่อ่อนให้พร้อม เพื่อจะออกมาผสมพันธุ์ วางไข่ในต้นฤดูฝน ดังนั้น กบในช่วงจำศีล จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้านชาวนา