คำอธิบาย
ตบม้อน เป็นภาชนะจักสานทรงเตี้ย รูปทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีปากภาชนะกว้าง ใช้สำหรับเลี้ยงตัวไหมให้เจริญเติบโตเป็นรังไหมด้วยใบหม่อน ทำจากไม้ไผ่สานขึ้นมา
ในอดีต หญิงชาวไทดำจะมีความสามารถในด้านการทอผ้าเป็นอย่างมาก กรรมวิธีในการทอผ้าจะเริ่มต้นจากการเลี้ยงตัวไหม ซึ่งชาวไทดำจะเรียกว่า “ตัวม้อน” ในการเลี้ยงตัวม้อนจะเลี้ยงไว้ภายในตบม้อน โดยนำผ้าขาวมาปูรองพื้นตบม้อนไว้ แล้วนำตัวม้อนมาใส่พร้อมกับใบหม่อนที่เป็นอาหารของตัวม้อน จากนั้นจึงคลุมไว้ด้วยผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงแขวนไว้บนเรือนเพื่อป้องกันมด แมลง หรือจิ้งจกลงมากินตัวม้อน บางเรือนอาจจะมีการเลี้ยงตัวม้อนไว้เป็นจำนวนมาก อาจจะมีการแขวนตบม้อนซ้อนกันไว้ประมาณ 2-3 ชั้น ไม่เกินนี้เพราะตบม้อนที่ใส่ตัวม้อนและใบหม่อนไว้จะมีน้ำหนักมาก
วงจรชีวิตของตัวม้อนนั้นเริ่มจากตัวผีเสื้อหรือ “ตัวบี้” ผสมพันธุ์กันหลังจากที่ออกจากดักแด้ เมื่อตัวบี้วางไข่ก็จะนำไข่มาวางไว้ในกระดาษขาวเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน จนฟักออกมาเป็นตัวม้อน ก็จะเริ่มกินอาหารคือใบหม่อน โดยนำใบหม่อนมาพับและหั่นให้เป็นฝอยๆ แล้วนำไปโรยใส่ตัวม้อน ซึ่งตัวม้อนจะกินอาหารเฉพาะช่วงนี้เท่านั้น
เมื่อตัวม้อนโตเต็มที่ก็จะหยุดกินใบหม่อน แล้วจึงแยกเอาตัวม้อนมาใส่ไว้ใน “จ่อ” เพื่อให้พ่นเส้นใยหุ้มตัวเองไว้ หลังจากนั้นตัวม้อนจะกายเป็นฝักๆ สีทอง ข้างในจะเป็นตัวดักแด้ ทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็จะนำม้ามเพื่อสาวเป็นเส้นไหมได้ หากทิ้งไว้นานเกินไป ตัวดักแด้ข้างในจะเน่า เส้นไหมที่ได้ก็จะไม่มีคุณภาพ แต่ก็จะไม่ได้เอาดักแด้ตัวม้อนทุกตัวไปต้ม แต่จะเลือกเอาบางตัวไว้สำหรับทำพันธุ์ต่อไปด้วย
รังไหมที่จะนำมาทำไหมนั้นต้องนำไปต้มในน้ำเดือดปานกลาง เพราะถ้าน้ำเดือดมาก ตัวรังไหมจะลอยขึ้นมาวุ่นวายทำให้สาวไหมยาก ส่วนตัวดักแด้ก็อาจจะเอาไปประกอบอาหารหรือนำไปขายก็ได้ เส้นไหมที่ได้นั้นจะนำไปผึ่งให้แห้งแล้วเข้าสู่กระบวนการย้อมคราม การกรอไหม การสาวไหม การปั่นด้าย จยถึงการทอผ้า
ปัจจุบันชาวไทดำแทบจะไม่มีการเลี้ยงตัวม้อนแล้วเนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้แทบไม่มีการใช้ตบม้อนอีกในปัจจุบัน คงเหลือไว้แต่ตบม้อนของผู้เฒ่าผู้แก่เคยใช้ในอดีตที่บางครัวเรือนเก็บรักษาไว้เท่านั้น