หม้อนิล



คำอธิบาย
หม้อนิล คือหม้อที่ใช้ในการผสมสีย้อมผ้าของชาวไทดำ เป็นหม้อดินเผาปากกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ทนความร้อนได้ดี เนื่องจากไม่ได้มีการผลิตเพื่อใช้เป็นการเฉพาะ ทำให้ในปัจจุบัน หากหม้อนิลใบเก่าชำรุดเสียหาย ชาวไทดำก็จะใช้โอ่งมังกรเป็นหม้อนิลเพื่อการย้อมผ้า เพราะหาซื้อได้ง่าย
 
การย้อมนิล ต้องนำต้นครามมาหมักคนกับปูนจนได้เนื้อคราม แล้วนำเนื้อครามมาผสมกับน้ำขี้เถ้าตามอัตราส่วน ปรุงแต่งจนหม้อนิลย้อมได้ ใช้เวลาในการหมักหนึ่งสัปดาห์ แล้วจึงนำฝ้ายที่เตรียมไว้มาลงย้อมไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง สังเกตสีของผ้าเพื่อให้ได้ความเข้มตามต้องการ จากนั้นจึงนำมาย้อมกับน้ำเปลือกประดู่
 
การย้อมด้วยเปลือกประดู่จะนำเปลือกประดู่มาต้มจนเดือดประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วผสมกับน้ำขี้เถ้าเดือด รอจนเย็นลง จะได้น้ำที่ใช้สำหรับการย้อมทับ จากนั้นให้นำผ้าที่ย้อมนิลแล้วมาจุ่มในน้ำเปลือกประดู่จนทั่วทั้งผืน บิดให้หมาดแล้วนำไปตากแดดจนแห้ง เมื่อแห้งแล้วให้นำผ้ามาจุ่มน้ำเปลือกประดู่อีกรอบ บิดให้หมาด นำผ้าไปตากแดดโดยให้ด้านที่โดนแดดเป็นคนละด้านกับที่ตากครั้งแรก เมื่อผ้าแห้งก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย โดยมักจะตากผ้าในเวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่แดดร้อนจัด