กี่ทอผ้า



คำอธิบาย
เครื่องมือทอผ้าหน้ากว้างมาก ๆ สันนิษฐานว่าประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีน เรียกว่า ปังกี่ หรือ โปกกี่ เมื่อประมาณ 1800 ปีมาแล้ว หรือ กี่พื้นบ้าน ในปัจจุบัน (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า หูก) ประกอบด้วยโครงไม้ยึดเสาสี่เสา มีไม้คานกี่เป็นโครงยึด มีไม้คำพั่นเป็นที่ยึดเส้นยืนและเป็นที่ม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้ว ไม้ไขว้เป็นไม้ด้านหัวกี่ที่ช่วยให้เส้นยืนตึง นอกจากนี้ยังมีฟืมหรือเครื่องกระทบเส้นพุ่งที่พัฒนาจากการใช้ไม้ โดยจะทำจากไม้เนื้อแข็งหรือเหล็กเป็นซี่ถี่ ๆ คล้ายหวีเพื่อให้สอดด้วยเส้นยืนผ่านเข้าไปได้ ฟืมใช้กระทบให้เส้นพุ่งที่สอดขัดกับด้านเส้นยืนแน่นและเรียบ และยังเป็นตัวกำหนดหน้ากว้างของผ้าด้วยช่องฟันหวีด้วย เช่น ฟืมขนาด 200 ช่องฟันหวี
 
 ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างคือ ไม้ขัดร่องเขา เป็นไม้ไผ่กลม ๆ ที่เป็นตัวยึดด้ายเส้นยืนให้ยกขึ้นหรือลงตามรูปแบบและลวดลายของผ้าที่ต้องการจะทอ โดยผูกโยงไว้กับไม้เหยียบหูก ผู้ทอจะใช้เท้าเหยียบให้ด้ายขึ้นลงคล้ายการยกเส้นตอกในงานจักสาน การเหยียบต้องสัมพันธ์กับการพุ่งกระสวย ซึ่งเป็นไม้ขนาดเล็ก กลางป่องคล้ายเรือ มีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายที่จะใช้เป็นเส้นพุ่ง โดยพุ่งสลับจากริมผ้าด้านขวาไปซ้ายและซ้ายไปขวา สลับกับการกระทบฟืม ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผืนผ้าตามต้องการ ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีสอดกระสวยที่รวดเร็วกว่าเดิมคือการใช้สายกระตุกกระสวยกลับไปมา ไม่ต้องใช้มือพุ่งกระสวยดังแต่ก่อน เราเรียกกี่ทอผ้าแบบนี้ว่า กี่กระตุก ทำให้ทอผ้าได้เร็วขึ้น