กี่เอว



คำอธิบาย
การทอผ้าของชาวลีซู จะเป็นการทอโดยใช้แผ่นหลังของผู้ทอช่วยดึงด้ายเส้นยืน (Back strap body tension loom) ผู้ทอต้องนั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้า ปลายด้ายเส้นยืนข้างหนึ่งพันรอบเอว อีกข้างผูกกับไม้ขวางตามความกว้างของหน้าผ้า แล้วโยงยึดกับเสาเรือนหรือต้นไม้ ผู้ทอต้องก้มและยืดตัวสลับกับการสอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไประหว่างด้ายเส้นยืนด้วยไม้ สลับกับการกระทบด้ายเส้นพุ่งให้เรียงกันแน่นด้วยแผ่นไม้บาง ๆ เครื่องทอผ้าลักษณะนี้จะทอได้เฉพาะผ้าหน้าแคบ โดยมีใช้ทั่วไปในกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น ลีซู กะเหรี่ยง มูเซอ เป็นต้น
 
อุปกรณ์ที่ประกอบเป็นเครื่องทอผ้าของชาวลีซู ประกอบด้วย 1) ฉือหย่า (ด้าย) 2) คว่าผี่ (ผ้าพันสะโพก) 3) หย่าสือผี่ (ไม้กระทบ) 4) หย่าคู้ลูถู (ไม้แยกด้าย) 5) หย่าลู่ดา (ไม้ค้ำเอว)
 
ขั้นตอนการทอผ้า มีดังนี้
1) คล้องเส้นด้ายลงหลักที่ 1 แล้วสาวเส้นด้ายผ่านหลักที่ 2-5 แล้วคล้องหลักที่ 6 จากนั้นจึงสาวกลับมาคล้องหลักที่ 1 อีก
2) ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกัน แล้วนำมาพันรอบหลักที่ 2
3) ดึงด้ายให้ตึงเสมอกัน พาดด้านหน้าหลักที่ 3 เป็นจุดแยกด้าย
4) ใช้ด้ายอีกกลุ่มหนึ่งเป็นด้ายตะกอ สอดเข้าไประหว่างด้ายหรือแยกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน
5) ส่วนที่ไม่ได้คล้องตะกอ แยกเส้นด้ายผ่านหลังไปหลักที่ 4 และส่วนที่คล้องตะกอให้ดึงผ่านหน้าหลักที่ 4
6) ดึงด้ายให้ตึง พันรอบหลักที่ 6 แล้วสาวด้ายให้ตึงอีกครั้ง
7) ดึงด้ายกลับมาเริ่มที่หลักที่ ๑ อีกครั้ง โดยทำตาม 1-6 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ความสูงและความกว้างที่ต้องการ
8) หากต้องการสลับสี ก็เปลี่ยนสีด้าย
9) ถอดไม้ออกจากเครื่องทอ แล้วรั้งผ้าไปผูกไว้กับฝาเสาหรือระเบียงเรือนให้มีความสูงประมาณศีรษะของผู้ทอ
10) นำไม้ค้ำเอวและผ้าพันสะโพกผูกรอบเอวของผู้ทอ ดึงเครื่องทอให้ตึงพอประมาณ แล้วจึงเริ่มทอ
 
ลวดลายบนผืนผ้าของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ชนิดที่เมื่อมองเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าผู้สวมใส่คือกลุ่มชาติพันธุ์ใด ชาวลีซูก็มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเช่นกันโดยส่วนใหญ่จะเป็นริ้วสีที่หลากหลายผสานลายผ้าปัก อาทิ ลายอี๊กือจะย่า (ลายริ้วผ้าสลับสี) ลายอ๊ะหน่ายือ (ลายเขี้ยวหมา) เป็นต้น