ไถ



คำอธิบาย

ไถ เป็นเครื่องมือประกอบการทำนาทำไร่ ใช้ควายหรือวัวลากเพื่อกลับดิน แล้วใช้คราดหรือขลุบทำดินที่ไถไว้ให้ก้อนเล็กลงเพื่อเพาะปลูกพืชได้สะดวก

การใช้ไถของชาวบ้านในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ มักใช้ไถเดี่ยวมากกว่าไถคู่ ที่เรียกว่าไถเดี่ยวเพราะใช้ควายลากไถนาเพียงตัวเดียว เหตุที่นิยมใช้ควายลากเพราะว่ามีความแข็งแรง ไม่กลัวฝนที่ตกอยู่เสมอ หากใช้วัวเตรียมดินเพาะปลูก มักใช้วัวเป็นคู่สำหรับเตรียมลากคราดและขลุบ

ไถมีส่วนประกอบคือ

คันไถ เป็นส่วนโค้งงอนเสียบเข้าเดือยกับหางยาม ไม้ที่นำมาทำคันไถจะใช้ไม้แดง ไม้ประดู่ และไม้ชิงชัน โดยเลือกใช้กิ่งต้นที่มีลักษณะโค้งงอคล้ายรูปคันไถอยู่แล้ว ใช้ขวานถากไม้ให้มีขนาดเล็กลง ใช้บุ้งและกระดาษทรายขัดเนื้อไม้ให้เรียบ ปลายคันไถมักทำเป็นรูปดอกบัวตูม เจาะรูส่วนปลายเพื่อร้อยเชือกหนังมัดกับแอกน้อยให้ควายลากไถ

หางยาม เป็นส่วนที่เข้าเดือยกับคันไถซึ่งใช้ลิ่มตอกให้สนิทและแน่น โคนไม้หางยามจะเข้าเดือยกับหัวหมู ส่วนปลายหางยามถากและเหลาเล็กลง ปลายงอเป็นมือจับเวลาไถนา

หัวหมู เป็นส่วนฐานวางติดพื้น มีรูปร่างเหมือนหัวหมู ปลายหัวหมูด้านหน้า ถากเป็นเดือยสอดเข้ากับผาลไถนา ก่อนใส่ผาลกับหัวหมูจะเคี่ยวครั่งจนเหลว ทาครั่งร้อน ๆ บนผิวไม้หัวหมูประกบกับผาลเหล็ก เมื่อครั่งเย็นจะทำให้ผาลและหัวหมูยึดติดกันแน่น

คอม เป็นไม้โค้งวางพาดคอควายหรือวัว เพื่อมันเชือกปลายคอมสองด้าน ชาวบ้านเรียกว่า “เชือกค่าว” นำปลายเชือกไปมัดกับปลายแอกน้อยอีกทอดหนึ่ง

แอกน้อย เป็นไม้ท่อนสั้นประมาณ 50 เซนติเมตร เจาะรูกึ่งกลางแอกน้อยเพื่อร้อยเชือกหนังหรือหวาย ปลายแอกน้อยสองข้าง ควั่นรอยลึกสำหรับผูกเชือกค่าวให้ควายดึงไถไปข้างหน้า

การไถนาโดยใช้วัวควายลากไถกลับดินเตรียมเพาะปลูกเหมือนสมัยก่อน เริ่มหาดูได้ยากขึ้นเป็นลำดับ เพราะเปลี่ยนมาใช้รถไถนาชนิดเดินตามเกือบหมด วัวควายที่เลี้ยงไว้พลอยลดน้อยลงไปด้วย แม้จะหาปุ๋ยคอกหรือมูลวัวมูลควายมาใช้ทาหรือยาลานนานวดข้าวยิ่งหาลำบากขึ้น ไถซึ่งเคยใช้ก็กลายเป็นเศษฟืนก่อไฟไปเกือบหมดแล้ว