จาตือตู๋ฉ่า



คำอธิบาย

ในอดีต ชาวลีซูจะมีช่างตีเหล็กประจำหมู่บ้านอย่างน้อยหมู่บ้านละหนึ่งคน โดยเป็นคนที่คอยสร้างและซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น มีด จอบ เสียม ตลอดจนอาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์ ทำให้ชาวลีซูคุ้นเคยกับเครื่องมือเครื่องใช้โลหะเป็นอย่างดี

ตู๊ฉะ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปลูกข้าวของชาวลีซู ตัวตู๊ฉะทำจากโลหะมีลักษณะคล้ายอุ้งมือปลายตัด เหมาะสำหรับการขุดหลุมลึก ๆ ด้ามจับทำจากไม้ไผ่ มีขนาดยาวกว่าด้ามเสียมที่เห็นโดยทั่วไปเพื่อสะดวกในการแทงดินขุดหลุมปลูกข้าว

ฤดูกาลปลูกข้าวของชาวลีซูจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม โดยชาวลีซูมีวิธีการปลูกข้าวแบบหยอดหลุม ผู้ชายจะเป็นคนใช้ตู๊ฉะขุดหลุม ด้วยการแทงตู๊ฉะลงไปในดินแล้วงัดขึ้นมา ส่วนฝ่ายหญิงจะตามหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือข้าวโพดหลุมละ 3-5 เม็ด โดยไม่ต้องปิดปากหลุม ในระหว่างที่ปลูกข้าวนี้ หนุ่มสาวจะร้องเพลงและพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งชาวลีซูไม่นิยมให้คู่สามี-ภรรยาทำงานปลูกข้าวด้วยกันตามลำพัง จึงจำเป็นต้องเชิญหนุ่มสาวต่างครอบครัวให้มาช่วยงานด้วย