เบ็ดถกเป็นเบ็ดตัวใหญ่ คันเบ็ดยาว ใช้เขียดหรือลูกกบเป็นเหยื่อเกี่ยวเบ็ด กระตุกขึ้นลงบนผิวน้ำคล้ายเหยื่อยังมีชีวิตหลอกล่อล่าดักปลาช่อนตัวใหญ่ให้กินเหยื่อในช่วงน้ำใหม่ฝนแรก ถึงช่วงข้าวออกรวงเขียว มีน้ำขังมากในท้องนา
คำว่า ถก หมายถึง กระตุกขึ้นเร็วๆ เช่น ถกหญ้า คือการจับต้นหญ้ากระตุกขึ้น ต่างกับคำว่า ถอน ที่มีลักษณะค่อยๆ หา ค่อยๆ ทำ
เบ็ดถกมีรูปร่างเหมือนเบ็ดทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่กว่าวัดจากส่วนโค้งถึงปลายหู ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีขายหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป พรานเบ็ดถกบางคนทำขึ้นใช้เอง โดยใช้เส้นสเตนเลส หรือเหล็กเส้นแข็งเล็กเผาไฟดัดโค้งกลางตัวเบ็ด ที่ม้วนเป็นห่วงหู ตีปลายเบ็ดให้แบนที่ปลาย ผ่าเป็นเงี่ยง ใช้ตะไบขัดให้ปลายเงี่ยงคมแหลมที่ห่วงหูผูกมัดด้วยสายเอ็นเบอร์ 50-60 (ชาวบ้านจะใช้เอ็นที่ใช้ในการก่อสร้าง) ตัดส่วนเขาควายเหลาเป็นเส้นแบนเล็กๆ เรียกว่าทอย ที่ปลายทอยเจาะรูเล็กๆ ใช้ปิดเงี่ยงเบ็ดและที่โคนทอยยึดรัดด้วย แผ่นตะกั่วเล็กๆ ติด กับเส้นเอ็นที่ผูกยึดหูเบ็ด บางพื่นที่ใช้ปลอกสายไฟผูกติดกับหู ใช้ปลายรูที่นำเส้นทองแดงออกแล้วสวมปิดคมเบ็ด มีหน้าที่เหมือนกัน คือ ป้องกันตัวเบ็ดเกี่ยวกอหญ้า กอผักบุ้ง เถาไม้น้ำ แต่หากปลาฮุบเหยื่อ เส้นเขาควายหรือปลอกสายไฟจะหลุดออกจาก คมเบ็ด แล้วผูกเชือกต่อไปที่ปลายคันไม้ คันไม้หรือคันเบ็ด ทำจากไม้ไผ่รวก ลำตรง ผึ่งจนแห้งสนิท ยาวประมาณ 5 เมตร ที่โคนคันสวมยึดไม้ง่าม เป็นไม้เนื้อแข็ง มีง่ามสองง่าม เหมือนง่ามหนังสะติ๊ก แต่มีขนาดใหญ่กว่าถ่างกว้างพอดีกับต้นขา ใช้ถ่ายน้ำหนักลงที่ต้นขาเพื่อผ่อนแรงที่มือ
เบ็ดถกเริ่มใช้เมื่อฝนใหม่ฝนแรกมา มีน้ำเอ่อไหลเข้าท้องร่อง คลองเล็กๆ หรือที่ลุ่มน้ำ ปลาช่อนจะออกมาจากแหล่งน้ำเดิม ออกมาอาศัยน้ำใหม่เพื่อผสมพันธุ์ วางไข่ เบ็ดถกจะกระตุกล่าปลาช่อนใหญ่ไปจนเมื่อมีน้ำหลาก ช่วงข้าวเขียวถึงเดือนตุลาคม โดยใช้เหยื่อล่อเป็นเขียดอีโม่ (ลักษณะคล้ายกบแต่ตัวเล็กกว่ามาก ว่องไวปราดเปรียวกระโดดได้ไกล) หรือใช้ลูกกบขนาดประมาณหัวนิ้วโป้ง ใช้คมเบ็ดเกี่ยวเข้าที่จมูก ผ่านเข้าไปในตัวคมปลายเบ็ดโผล่พ้นออกมาที่ต้นขา ใช้ทอยหรือปลอกสายไฟ ปิดสวมปลายคมเบ็ดถกเบ็ดหลอกล่อปลาใหญ่