ถังไม้ตวงข้าว



คำอธิบาย

ถังไม้ตวงข้าวเป็นภาชนะทรงกระบอก ก้นทึบ ปากกลวง ส่วนมากทำด้วยไม้ มีแผ่นโลหะรัดที่ขอบปากถัง กลางและก้นถังเพื่อความคงทน บางถังบริเวณปากจะมีไม้ขวางเพื่อใช้เป็นที่จับยกถัง ขณะที่บางถังจะไม่มีไม้ขวางนี้ แต่จะมีหูทำจากไม้บริเวณขอบปากด้านนอกเพื่อใช้ประคองแทน

ถังไม้ตวงข้าวใช้เป็นเครื่องตักหรือตวงสิ่งของเช่น ตวงข้าวเปลือก ข้าวสาร เมล็ดถั่ว เมล็ดงา เมล็ดข้าวโพด โดยการตวงจะต้องเทเมล็ดข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือเมล็ดพืชอื่นๆ ลงไปในถังจนพูนปากถัก แล้วใช้ไม้ปาดซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นท่อนไม้ไผ่กลมๆ ปาดเมล็ดพืชส่วนที่เกินออกจนเสมอขอบปากถัง

ถังตวงข้าวส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้สัก เพราะมีคุณสมบัติคือ มีความแข็งแรงคงทน ไม่มีเชื้อราและปลวกมากินเนื้อไม้ อีกทั้งยางไม้ยังสามารถช่วยไล่มอดไม่ให้มากินข้าวสารอีกด้วย

ถังไม้บางถังจะมีการตีตรารูปครุฑไว้ทั้งภายนอกและภายในถัง การตีตราครุฑนี้เป็นการรับรองมาตรฐานของถังตวงข้าวสารจากรัฐหรือหน่วยงานราชการเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าถังตวงข้าวสารใบดังกล่าวนั้นตวงข้าวสารได้ตามปริมาณที่ระบุไว้พอดี ไม่ขาดไม่เกิน ทำให้ไม่สามารถโกงน้ำหนักข้าวสารในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ นอกจากตราครุฑแล้วยังมีการตีตราระบุปริมาณที่ใช้ตวงของถังใบนั้นๆ ด้วย เช่นถังขนาด 20 ลิตรหรือ 20 ทะนาน นอกจากนี้ก็ยังมีถังขนาด 10 ลิตรหรือ 10 ทะนานอีก ส่วนถังที่ไม่มีการตีตราครุฑ ก็อาจจะใช้สำหรับตวงใช้กันเองในครัวเรือนอย่างคร่าวๆ

ในอดีตแทบทุกครัวเรือนจะต้องมีถังไม้ตวงข้าวสารติดบ้านไว้เสมอเพื่อความสะดวกในการค้าขาย แต่ในปัจจุบันถังไม้ตวงข้าวสารได้ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือนแทน และถือเป็นสิ่งมงคลประจำบ้านด้วย บางบ้านก็จะนำไปใช้ใส่เศษสตางค์ถือเป็นเคล็ดสำหรับคนค้าขาย