พัดใบลานเป็นเครื่องมือโบกกระพือลม ซึ่งมีหลายแบบหลายชนิด แต่โดยทั่วไปที่ชาวบ้านใช้มักจะทำหรือสานด้วยใบลาน พัดจะมีด้ามสำหรับถือขณะพัดโบก รูปร่างและขนาดของพัดจะแตกต่างกันตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปจะเป็นแผ่นแบนบาง มีด้ามจับมักเสียบอยู่กึ่งกลางของพัด นอกจากจะใช้เพื่อคลายร้อนแล้ว ยังใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ เช่น พัดโบกไล่ข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก พัดเตาไฟเพื่อเร่งไฟ เป็นต้น
ใบลานที่ใช้ทำพัดได้มาจากต้นลานซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวขนาดใหญ่ มีเส้นใบที่ขนานกัน ทำให้สามารถนำมาฉีกออกเป็นเส้นได้ง่าย เมื่อใบแห้งแล้วก็ยังคงมีความเหนียว แข็งแรง ไม่ฉีกขาดง่ายจึงเป็นที่นิยมในการนำมาสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
ต้นลานที่พบในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่ลานพรุ พบได้มากในแถบภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่และพังงา ลานป่าหรือลานทุ่ง พบมากที่ปราจีนบุรี ขอนแก่นและสระบุรี และยังพบได้ทั่วไปในลพบุรี ตาก นครปฐมและพิษณุโลก ลานวัดหรือลานบ้านหรือลานหมื่นเถิดเทิง ลานชนิดนี้จะไม่พบตามธรรมชาติ แต่มีการนำมาปลูกในภาคเหนือ พื้นที่ที่พบต้นลานเป็นจำนวนมากได้แก่หมู่บ้านทับลาน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียหรือของโลกก็ว่าได้ เนื่องจากต้นลานสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ใบลานจึงค่อนข้างเป็นที่นิยมในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างงานฝีมือต่างๆ มากมาย