เบ็ดปลานา



คำอธิบาย

 เบ็ดปลานา เป็นเบ็ดที่ใช้อย่างแพร่หลาย  ในท้องทุ่งนาปักโคนคันเบ็ดไว้ริมคูคันนา  เกี่ยวเหยื่อไส้เดือน หย่อนลงน้ำในแปลงนา  ใช้ล่าดักจับปลาดุก  ปลาช่อน  ปลาหมอ  ที่หากินในช่วงกลางฤดูฝนมีน้ำมาก  ข้าวตั้งท้อง  แตกกอ
          

ชาวบ้านจะทำคันเบ็ดเตรียมไว้ก่อนหน้าฝน  โดยตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวประมาณ 90 เซนติเมตร  เสี้ยมปลายโคนแหลม  แล้วเหลาเอาเนื้อไม้ด้านในออก เหลาให้เรียบแบนไปที่ปลายอีก 40 เซนติเมตร  บากปลายเล็กน้อย  เหลาเตรียมไว้เป็นจำนวนมาก  จากนั้นจึงกวาดเศษไม้ไผ่จุดไฟเผา  นำคันเบ็ดมาอังไล่ความหวานและความชื้นในเนื้อไม้ออก  จากนั้น   จึงนำขึ้นวางทิ้งไว้บนตะแกรง  ไม้ไผ่ที่ถูกผูกติดไว้เหนือเตาไฟ  เพื่อให้ความร้อนจากไฟที่ก่อขึ้นหุงหาอาหารเวลาเช้าเย็นไล่ความหวานและความชื้นอีกครั้งหนึ่ง  รวมทั้งให้ควันไฟรมเนื้อไม้ให้แห้งแข็งแรง  ทนทาน  ป้องกันปลวก  มอด  แมลงเจาะกินเนื้อไม้  ซึ่งต่างจากเบ็ดที่ซื้อหามาจากท้องตลาด  แบ่งขายเป็นมัด  มัดละ 100 คัน  หากซื้อมาแล้วเคาะลงกับพื้นแข็งๆ  จะเห็นขุยไผ่  ขี้มอดฟุ้งกระจาย  แสดงว่าไม่ผ่านกระบวนการรักษาเนื้อไม้แบบชาวบ้านที่ทำขึ้นใช้เอง  เมื่อเข้าฤดูฝนก็จะนำลงตะแกรง  ใช้เชือกผูกเป็นหูที่กลางคันเบ็ด  เพื่อให้ตัวเบ็ดเกี่ยวขณะไม่ใช้  ที่ปลายคันเบ็ดจะผูกมัดด้วยเอ็น  ปลายเอ็นอีกข้างจะผูกมัดที่โคนเบ็ด  ซึ่งมีขนาดเล็กตีแผ่นบาง  แล้วผูกเชือกด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ดก่อนจึงผูกมัดอีกรอบหนึ่งให้แน่น  เงื่อนตะกรุดเบ็ดจะใช้ผูกมัดกับวัตถุอื่นๆ ทั่วไป  ผูกแล้วไม่หลุดง่าย  คำว่า “ตะกรุด”  เชื่อว่ามาจากจอมขมังเวทย์  จารอักขระลงบนแผ่นตะกั่วหรือทองแดง  จากนั้นก็จะม้วนแผ่นตะกั่วแล้วใช้เชือกผูกเงื่อนนี้  ตั้งแต่ปลายพร้อมทั้งบริกรรมสวดท่องคาถาอาคมเรื่อยไปจนถึงปลายอีกข้างหนึ่ง  สิ่งที่ได้คือ  ตะกรุดที่สมบูรณ์  เงื่อนนี้ในวิชาลูกเสือต้องเรียนรู้เป็นบทเรียนฝึกหัด  แรกๆ เรียก  “เงื่อนตะกรุดเบ็ด”
          

เบ็ดปลานา  ใช้คราวละหลายๆ คัน  มีชาวบ้านหลายคนหาปลาเป็นอาชีพเสริมจะใช้คันเบ็ดนับ 200-300 คัน  ใช้เหยื่อไส้เดือนเกี่ยวเบ็ด  วางเรียงกันบนริมคันนา  ห่างกันประมาณ 3 เมตร  เป็นบริเวณกว้างทั่วท้องทุ่ง  หากปลาชุมวางได้เพียง 5-10 คัน  เบ็ดคันแรกๆจะติดปลา  ดังนั้น เบ็ดจำนวน 300 คัน  จึงต้องวางกู้เก็บปลา  เปลี่ยนเหยื่อตลอดคืน