ตะลุ่ม



คำอธิบาย

ภาชนะมีเชิงอย่างพาน ปากคลุ่ม มีขนาดใหญ่กว่าพาน ใช้ใส่อาหาร โดยใช้วางถ้วยหรือขันโอสำหรับใส่อาหารของพระสงฆ์ ทำด้วยไม้ลงรักเขียนลาย หรือฝังมุกเป็นลวดลายต่างๆ ตะลุ่มบางทีทำเป็นชุด มีขนาดใหญ่และเล็กลดหลั่นกันลงไป

ตะลุ่มเป็นภาชนะที่มีเชิงคล้ายพาน แต่มีขนาดใหญ่กว่าและสูงกว่า สานด้วยเส้นตอกกลม ปากผาย ใช้สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ

ในสมัยก่อนนิยมใช้ตะลุ่มใส่ของกินของใช้ภายในวัด การบวชนาคนอกจากจะมีเครื่องอัฏฐะบริขารแล้ว เจ้าภาพมักสานตะลุ่มไว้เสมือนเป็นสำรับของพระสงฆ์ งานบุญงานกุศลชาวบ้านใช้ตะลุ่มใส่สิ่งของไปถวายพระ เช่น ถ้าใส่ผลไม้จะใช้ใบตองลองพื้นตะลุ่มเสียก่อน หากใส่เครื่องคาวหวาน เดิมใช้กระทงใบตองเป็นภาชนะรองรับ ต่อมาใช้กะลามะพร้าวทำฝาปิดเปิดได้ จนกระทั่งมาใช้ดินปั้นเป็นถ้วยชามเคลือบเป็นภาชนะ

แรกๆ ตะลุ่มอาจสานด้วยไม้ไผ่หรือทำด้วยไม้สักเป็นรางแล้วมีการลงรักฉาบชาด จวบจนมีการประดิษฐ์เป็นตะลุ่มมุก ตะลุ่มทอง นอกจากนี้ ชาวบ้านยังใช้ตะลุ่มสำหรับเป็นขันหมากในพิธีแต่งงานอีกด้วย แต่จะทำฝาครอบและเรียกว่า “เตียบ”

ตะลุ่มสานด้วยตอกไม้ไผ่เส้นกลม สานมีรูปทรงคล้ายพานปากผายกว้างกลม อาจมี 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น ความสูงของตะลุ่ม 20-30 เซนติเมตร ปากกว้าง 30-50 เซนติเมตร มีรางลึกสำหรับวางสิ่งของ 10-20 เซนติเมตร การสานจะสานฐานรองเป็นลายขัด ส่วนปากตะลุ่มสานเป็นลายไพรยักคิ้ว ซึ่งมีสูตรการสานที่ชาวบ้านจดจำไว้ดังนี้ “ยกสองข่มสี่ กลับมาอีกที ไอ้ที่สี่ยกสอง” ขอบของตะลุ่มสานเก็บริมด้วยหวายลายสันปลาช่อน
ปัจจุบันไม่มีการใช้ตะลุ่มชนิดที่สานด้วยตอกไม้ไผ่อีกแล้ว หากไปทำบุญที่วัดยังพอเห็นการใช้โตกเงิน โตกทองเหลือง ถาดกระเบื้องเคลือบและถาดเหล้ก เป็นสำรับใส่คาวหวานถวายพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งในสมัยก่อนๆ นั้น ใช้ตะลุ่มเป็นภาชนะสำหรับสงฆ์โดยเฉพาะ