ภาชนะขนาดใหญ่ทรงเตี้ย ไม่มีคอและทรงสูง ไห 4 หู ขนาดกลาง ขวด 2 หู กระปุก แจกัน คนโท คนที ชาม อ่าง ครก เป็นลักษณะเด่นของภาชนะจากเตาเผาแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะรูปทรงไห มักทำขอบปากหนา รอบคอและส่วนไหล่นิยมตกแต่งลวดลายเส้นวงกลม ตั้งแต่เส้นขึ้นไป และปั้นหูติดเป็นรูปบ่วงหนาๆ ตรงส่วนปลายบีบอัดให้แนบสนิททับลำตัว ลักษณะเนื้อดินมีทั้งที่เป็นเนื้อดินสีแดงแบบไม่เคลือบและแบบเนื้อแกร่งสีน้ำตาลอมดำ ค่อนข้างหยาบ มีแร่เหล็กปนมาก เคลือบสีน้ำตาลและสีเขียวมะกอก ภาชนะบางอย่างมีรูปแบบคล้ายกับเครื่องถ้วยสังคโลกในสมัยสุโขทัย
ในบริเวณพื้นที่เกือบ 2 ตารางกิโลเมตรที่ครอบคลุมแหล่งเตาแม่น้ำน้อยนั้น มีวัดสำคัญที่ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่โบราณ ได้แก่ วัดพระปรางค์ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หรือในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ภายในวัดมีเจดีย์ทรงปรางค์ก่อด้วยอิฐถือปูน สูง 1 5เมตร ลักษณะเป็นพระปรางค์แบบไทย องค์สูงชะลูดคล้ายฝักข้าวโพด ฐานเตี้ย ภายในองค์เรือนธาตุเป็นคูหา และปรากฎร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังบนผนังคูหา ลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมคล้ายกับปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ที่สร้างขึ้นรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) เมื่อ พ.ศ. 1967-1968 และมีลักษณะคล้ายกับพระปรางค์ที่วัดหน้าพระธาตุ ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์เก่าอีกด้วย
จากการสำรวจศึกษาโครงสร้างของฐานปรางค์ พบว่ามีการนำเอาอิฐผนังเตาเก่าที่พังทลายแล้วมาใช้ในการก่อสร้าง และพบว่าองค์ปรางค์สร้างอยู่บนเนินดินฐานเตาเผา กิจการเครื่องปั้นดินเผาที่เตาแม่น้ำน้อยแห่งนี้จึงน่าจะมีมาก่อนการสร้างพระปรางค์ เป็นหลักฐานที่สามารถกำหนดอายุสมัยของกิจการเตาเผาแม่น้ำน้อยที่น่าจะเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และดำเนินกิจการเรื่อยมาและมาสิ้นสุดลงในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยนี้ นับเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกรุงศรีอยุธยา การผลิตมีทั้งเพื่อใช้ในราชสำนักและส่งเป็นสินค้าขายทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ภาชนะบางชนิดอาจไมได้เป็นสิ้นค้าส่งออกโดยตรง แต่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุสินค้าประเภทของเหลวที่ต้องบรรจุในภาชนะที่แข็งแรง ปิดฝามิดชิด ป้องกันน้ำเข้า เช่น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำตาล ยางไม้ ฯลฯ หรือเป็นวัตถุบอบบางที่ต้องบรรจุในหีบห่อป้องกันการแตกหักเสียหายในระหว่างการขนส่ง และจากความเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางทางการค้าของกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรือสำเภาจากที่ต่างๆ เดินทางเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก
ภาชนะจากเตาแม่น้ำน้อยยังถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่เสบียงอาหารและน้ำสำหรับเก็บตุนไว้ใช้ในเรือคราวละมากๆ เมื่อต้องเดินเรือค้าขายเป็นเวลานานในแต่ละครั้ง ความต้องการผลิตภัณฑ์จากเตาแม่น้ำน้อยสำหรับการค้าจึงมีมาก ถึงแม้จะไมได้เป็นสินค้าโดยตรงก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากเตาแม่น้ำน้อยจึงนับว่ามีบทบาทในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ช่วง พุทธศตวรรษที่ 20-24 ดดยเฉพาะภาชนะไห 4 หู ทรงเตี้ยไม่มีคอนั้นพบแพร่กระจายทั่วไปในภาคกลาง เมืองท่า ชายฝั่งทะเล และพบมากในเรือสำเภาสมัยอยุธยาที่จมอยู่ในอ่าวไทย รวมทั้งในต่างประเทศที่เคยพบที่ฝั่งทะเลของเกาะเซนต์เฮเลนา มหาสมุทรแอตแลนติก ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น