ตะลุมพุก



คำอธิบาย

ตะลุมพุกหรือสากตะลุมพุก เป็นเครื่องใช้ที่มีลักษณะเป็นท่อนไม้กลมๆ มีด้ามคล้ายค้อนแต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าค้อนมาก มีน้ำหนักมาก ใช้ในการตำข้าว หรืออาจใช้กับไม้ท่อนที่มีขนาดเล็กที่มีด้ามสั้น ตัวสั้น ใช้สำหรับทุบผ้าให้เรียบร้อย

หัวค้อนของตะลุมพุกและด้ามจับทำมาจากไม้เนื้อแข็งเป็นรูปทรงกระบอก ใช้คู่กับครอกไม้สำหรับตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารโดยการใช้แรงคน

วิธีการตำข้าวด้วยตะลุมพุกนี้จะใช้เมื่อต้องการข้าวสารในจำนวนไม่มากนัก ก่อนตำข้าวจะนำข้าวเปลือกตากให้เปลือกแห้งกรอบก่อนเพื่อให้เปลือกข้าวหลุดออกจากเมล็ดข้าวได้ง่าย ข้าวที่หลุดออกจากเปลือกจะยังมีเยื่อรำสีน้ำตาลติดอยู่บนเมล็ดข้าวเรียกว่าข้าวกล้อง จากนั้นจะแยกเปลือกออกแล้วตำข้าวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ซ้อมข้าว" เพื่อให้เยื่อรำหลุดออกจนได้ข้าวสารสีขาว การตำข้าวไว้รับประทานภายในครัวเรือนมักจะนิยมตำใหม่ๆ เนื่องจากให้รสชาติที่ดีกว่า ในปัจจุบันการตำข้าวด้วยตะลุมพุกหาได้ยากแล้ว เนื่องจากคนที่ตีถ้าตีไม่ดีหรือตีไม่เป็นก็จะต้องใช้แรงมากไม่สะดวก อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีในสมัยต่อๆ มามีการใช้ครกกระเดื่องและโรงสีซึ่งได้ผลที่เร็วกว่าและได้ปริมาณมากกว่า การใช้ตะลุมพุกจึงค่อยๆ หายไปจากชุมชน

ยังมีการใช้ตะลุมพุกเกี่ยวเนื่องกับประเพณีการละเล่นของชาวมอญ คือสะบ้าบ่อน โดยในวันสงกรานต์ สาวๆ ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ จะรวมกลุ่มกันตั้งบ่อนสะบ้า ส่วนมากจะอยู่ตามใต้ถุนเรือนชั้นเดียว และมีสาวงามอยู่ประจำทุกบ่อน ก่อนเล่นต้องปรับดินให้เรียบเสียก่อนโดยใช้น้ำรดหมาดๆ แล้วเอาตะลุมพุกสำหรับตำข้าวมาทุบดินให้แน่นแล้วใช้ขวดกลึงให้เรียบเพื่อใช้สำหรับเล่นสะบ้ากันระหว่างหนุ่มสาวในชุมชน