กระด้ง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ที่มีรูปร่างเป็นวงกลมแบน ที่ใช้สำหรับฝัดข้าวเพื่อแยกเอาเศษฝุ่น แกลบ ออกจากเมล็ดข้าวหรือเมล็ดพันธุ์อื่นที่มีเปลือกเช่นถั่ว เพื่อเป็นการคัดแยกระหว่างข้าว หรือเมล็ดพืชพันธุ์ที่ต้องการและเปลือกออกจากกัน
การสานกระด้งเริ่มจากการตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร จากนั้นจึงนำไม้ไผ่มาเหลาให้เป็นเส้นบางพอสมควรแล้วนำมาวางเรียงกัน 8 เส้น นำไม้ไผ่มาสานเป็นลายจัดกัน 2 เส้น จากนั้นจึงสานต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วจึงเหลาไม้ไผ่มาดัดเพื่อทำเป็นขอบกระด้งมาประกอบกันแล้วมัดด้วยเชือก หวาย หรือลวด
ในการใช้กระด้งฝัดข้าว ชาวนาจะนำข้าวที่ตำแล้วมาใส่ไว้ในกระด้งแล้วจึงทำการฝัดโดยใช้มือทั้งสองข้างจับขอบปากกระด้งแล้วทำการร่อนโดยให้กระด้งขึ้นลงเพื่อฟัดเศษหรือเปลือกข้าวให้ลอยขึ้นมาจากกระด้ง เศษและเปลือกข้าวที่มีน้ำหนักเบากว่าเมล็ดข้าวก็จะปลิวออกไปตามแรงลม ส่วนเมล็ดข้าวที่มีน้ำหนักมากกว่าก็จะตกลงมาบนกระด้ง
กระด้งเป็นภาชนะที่มีใช้กันทั่วไปในแทบทุกภูมิภาคซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นในภาคใต้ซึ่งมีกระด้งที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เรียกว่ากระด้งลายขอ กระด้งลายขอจะสานด้วยตอกไม้ไผ่ที่มีรูปร่างกลมรี คล้ายรูปหัวใจ สาเหตุที่เรียกว่ากระด้งลายขอเพราะกระด้งชนิดนี้จะสานด้วยตอกพิเศษซึ่งไม่เกลาเอาเปล้าไม้ไผ่ออก ปล่อยให้เป็นปุ่มนูนติดบนผิว ตอกเส้นหนึ่งจะเว้นปล้องข้อไว้เพียงข้อเดียว การสานจะเอาตอกชนิดนี้ไว้บนกึ่งกลางกระด้งและวางปล้องข้อหรือข้อบนตอกให้สลับฟันปลากันอย่างเป็นระเบียบสวยงาม แต่การใช้งานก็จะใช้ฝัดข้าวและเมล็ดพืชเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ แต่กระด้งของชาวภาคใต้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่โบราณว่าห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพไม่พอใจแล้วหนีไป ไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญทำให้การทำนาไม่ได้ผลดี และความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ กระด้งเป็นของสำคัญ ต้องเก็บไว้ในที่สูง ไม่ให้คนเดินข้าม มักจะเก็บไว้บนฝาบ้าน เพดาน ชายคา เหนือเตาไฟในครัว ให้ควันไฟช่วยรักษาเนื้อไม้ไผ่ไม่ให้เกิดมอดหรือแมลงนั่นเอง
ชาวปกาเกอะญอจะเรียกกระด้งว่า "ก่อแหล่" ซึ่งนอกจากจะใช้งานเพื่อการฝัดข้าวหรือเมล็ดพืชแล้ว ก็ยังใช้เป็นภาชนะสำหรับเก็บรองสิ่งของต่างๆ และใช้ตากแห้งผลผลิตทางการเกษตรเช่น พริก ผักกาด ใบชา และยังใช้สำหรับรองสินสอด (เก่อเนอ) ในพิธีแต่งงานตามประเพณีของชาวปกาเกอะญอด้วย
ก่อแหล่หรือกระด้งของชาวปกาเกอะญอยังถูกโยงไว้กับตำนานของชาวปกาเกอะญอ กล่าวไว้ว่า ในตำนาน "แกว่กอ" ในสมัยที่มนุษย์เกิดมาแล้วครั้งหนึ่งบนโลก ทุกชนชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ ล้วนเป็นพี่น้องกัน ทำมาหากินร่วมกันโดยการทำไร่ โดยมี "เก๊อะจ่ายวา" ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ เป็นผู้สอนและให้ความรู้ในเรื่องการทำมาหากิน แต่ในขณะนั้น มนุษย์นั้นไม่ค่อยมีความทรงจำในการดำเนินชีวิต แม้เก๊อะจ่ายวาจะสอนครั้งแล้วครั้งเล่า มนุษย์ก็จะลืมไปเสียสิ้น จนกระทั่งเมื่อถึงยุคสุดท้ายก่อนที่เก๊อะจ่ายวาจะจากไป ท่านได้บอกให้มนุษย์ทุกเผ่าว่า เก๊อะจ่ายวาจะมอบความรู้ ภูมิปัญญา และจะให้สมองของท่านในการจดจำแก่มนุษย์ทุกเผ่า โดยให้ทุกคนมารับความรู้เหล่านี้พร้อมกับให้เผาศพของท่านในการนั้น
ต่อมาเก๊อะจ่ายวาได้ส่งสัญญาณ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลทำไร่ เมื่อเผาไร่เสร็จ ทุกชนเผ่าต่างได้ยินสัญญาณของเก๊อะจ่ายวา ก็รีบพากันไปเอาความรู้ที่เก๊อะจ่ายวาบอกไว้ บางไปช้า บางคนไปเร็ว แต่ชาวปกาเกอะญอนั้นกำลังเก็บเศษไม้อยู่ในไร่ เมื่อเพื่อนต่างเผ่าเดินทางผ่านไร่ของชาวปกาเกอะญอ ก็ต่างเอ่ยปากชวนปกาเกอะญอให้รีบไปด้วยกัน แต่ชาวปกาเกอะญอตอบกลับว่า "ยังอยู่ เดี๋ยวก่อน" ไม่ว่าชนเผ่าไหนเดินผ่านมาก็จะชักชวนชาวปกาเกอะญอ แต่ชาวปกาเกอะญอก็จะตอบคำเดิมๆ ว่า "ยังอยู่ เดี๋ยวก่อน เรากำลังเก็บเศษไม้ในไร่ ยังไม่เสร็จ" เพราะปกาเกอะญอนั้นมุ่งมั่นตั้งใจกับการทำไร่ ต่อมาเมื่อทุกชนเผ่ามาถึงยังที่นัดหมายแล้ว เก๊อะจ่ายวาก็ได้ถามว่ามากันครบทุกชนเผ่าแล้วหรือยัง ทุกคนก็ตอบว่า ยังมีพี่น้องอีกชนเผ่าหนึ่งยังมาไม่ถึงคือชาวปกาเกอะญอที่ยังอยู่ในไร่ เก๊อะจ่ายวาจึงบอกว่าให้ชาวปกาเกอะญอมารับความรู้หลังจากได้ทำการเผาศพเก๊อะจ่ายวาไหม้หมดแล้ว ดังนั้นเก๊อะจ่ายวาจึงส่งสัญญาณอีกครั้งเพื่อให้เผาศพจนเหลือแต่ขี้เถ้า เมื่อนั้นชาวปกาเกอะญอได้ยินสัญญาณ จึงรีบเดินทางไปยังที่เผาศพเก๊อะจ่ายวา ระหว่างทางก็สวนทางกับชนเผ่าอื่นๆ ที่นำความรู้ความศักดิ์สิทธิ์กลับมา ชาวปกาเกอะญอจึงถามว่า ความดี ความรู้เหล่านี้ยังมีเหลืออีกหรือไม่ เพื่อนต่างเผ่าจึงตอบว่าเก๊อะจ่ายวาสั่งให้ไปเอาความรู้ความดีในขี้เถ้าจากศพที่ไหม้ ชาวปกาเกอะญอจึงเดินทางไปยังจุดเผาศพ เมื่อไปถึงจึงได้เห็นเพียงศพที่มอดไหม้เป็นขี้เถ้า คราวนั้นชาวปกาเกอะญอก็นึกว่าตนเองนั้นไม่ได้รับความรู้จากเก๊อะจ่ายวาดั่งเช่นพี่น้องชนเผ่าอื่นๆ แล้ว จึงได้หยิบขี้เถ้าซึ่งเป็นส่วนซี่โครงของเก๊อะจ่ายวากลับมาบ้าน จากนั้นก็เอาซี่โครงมาต่อเป็นอุปกรณ์ แต่ก็ไม่สามารถจะออกมาเป็นรูปร่างได้ ชาวปกาเกอะญอจึงไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นตอกและสานต่อกันเหมือนซี่โครงของเก๊อะจ่ายวา พอสานไปก็มีลายใหม่ๆ ออกมา จึงพยายามสานต่อไป จนได้เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ก่อแหล่" หรือกระด้งนั่นเอง จากนั้นก็ได้สานเป็นลายอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ได้ภาชนะชนิดต่างๆ ขึ้นมาในการดำรงชีวิต เครื่องจักสานของชาวปกาเกอะญอ จึงเป็นภาชนะที่ต้องทำด้วยความพยายาม ความตั้งใจ การสังเกต ความทรงจำที่ดี และเป็นผู้ลองผิดลองถูกในการจักสาน ชาวปกาเกอะญอจึงมีอาชีพทำไร่ข้าวและมีเครื่องจักสานเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตสืบทอดเรื่อยมา