เตาอั้งโล่เป็นอุปกรณ์สำหรับก่อไฟให้ความร้อนในการหุงต้มอาหาร มีรูปทรงคล้ายถัง ปากกลมผายออกเล็กน้อย ก้นสอบ ผนังเตาหนาประมาณ 2 นิ้ว ด้านหน้าเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม พื้นเตาเป็นช่องให้อากาศเข้าหรือใช้พัดโบกให้ลมเข้าไปเพื่อเร่งไฟ ปากเตาทำเป็นจมูกเตาสำหรับวางก้นหม้อ 3 ปุ่มสูงขึ้นจากปากเตาเล็กน้อยเพื่อยกก้นภาชนะให้พ้นปากเตาและเป็นการระบายอากาศ ภายในเตาระหว่างปากเตากับก้นเตามีรังผึ้งหรือตะกรับทำจากดินเผาเป็นแผ่นกลม เจาะรูเรียงกันเป็นวงเหมือนรังผึ้งเพื่อให้ขี้เถ้าร่วงลงไปยังก้นเตาและทำให้อากาศถ่ายเทด้วย เชื่อกันว่านำมาจากประเทศจีน เนื่องจากคำว่า "อั้งโล่" มาจากภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าเตาสีแดงซึ่งเป็นสีของดินเผา ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการนำมาใช้ในดินแดนประเทศไทยแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าอาจจะมีการนำเข้ามาเมื่อราว 100 ปีมาแล้ว เนื่องจากมีการค้าขายเริ่มแรกระหว่างประเทศไทย-จีน หรืออีกนัยหนึ่ง อาจจะมีการนำเข้ามาเมื่อตอนชาวจีนพวกหนึ่งอพยพเข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงราว 100 ปีมาแล้ว
ถึงแม้จะมีการสันนิษฐานว่ามีการนำเข้าเตาอั้งโล่มาจากประเทศจีนก็ตาม แต่ชุมชนต่างๆ ในไทยก็สามารถผลิตเตาอั้งโล่เพื่อใช้เองในครัวเรือนได้เนื่องจากมีความนิยมใช้ค่อนข้างมาก จึงค่อยมีการริเริ่มทำเลียนแบบและพัฒนาจนสามารถทำเองได้ในที่สุด
ขั้นตอนการผลิตเตาอั้งโล่นั้นเริ่มจากการหาดินเหนียวตามท้องนาเนื่องจากเป็นดินที่มีคุณภาพ ง่ายต่อการขึ้นรูป ไม่แตกร้าวหลังการเผา จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2 วัน แล้วจึงนำดินเหนียวไปหมักในบ่อดินเพื่อให้ดินผสมผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันและคัดแยกเศษไม้เศษหินออกมาไม่ให้ปะปนในเนื้อดิน แช่ดินทิ้งไว้ในบ่อประมาณ 1 คืน หลังจากนั้นนำดินขึ้นมาสะเด็ดน้ำให้แห้งพอหมาดๆ ผสมขี้เถ้า แกลบดำ ในอัตราขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ดิน 2 ส่วน ใช้เท้าย่ำให้เข้ากันประมาณ 3 ชั่วโมง แกลบดำจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันไม่ให้ความร้อนกระจายออกจากตัวเตา หลังจากนั้นนำดินไปปั้นขึ้นรูปเป็นเตาสู่แม่พิมพ์ตามขนาดที่เตรียมไว้ ใช้มือตบปั้นดินให้ขึ้นรูปเป็นทรงเตา ตกแต่งผิวดินด้านในที่ใช้เป็นห้องสำหรับวางรังผึ้ง หลังจากนั้นอัดทับด้วยแม่พิมพ์ภายใน เพื่อขึ้นรูปเป็นปากเตาและนมเตา เมื่อได้เตาตามขนาดที่ต้องการแล้วจึงคว่ำเอาเตาออกมาจากแม่พิมพ์แล้วนำไปผึ่งลมให้แห้งประมาณ 1-2 วันก่อนจะนำกลับมาตกแต่งปากเตาและนมเตา พร้อมกับเจาะช่องลมแล้วจึงนำไปผึ่งลมและตากแดดจนเตาแห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 2 วัน จากนัน้จึงนำมาเรียงในชั้นเตาเผา ใช้เวลาในการเผา 10 ชั่วโมง รอให้เตาเย็นแล้วจึงนำออกมาบรรจุลงในถังสังกะสีเฉพาะที่ใช้ทำเตา ใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบยาขอบเตาให้แน่นในอัตราดิน 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 10 ส่วน เพื่อไม่ให้เตาเสียหายง่ายเวลาใช้งาน
ในส่วนรังผึ้งนั้นทำจากดินเหนียวที่ใช้ทำเตามานวดผสมกับขี้เถ้าแกลบดำมากกว่าส่วนผสมที่ใช้ทำเตา เมื่อนวดจนได้ที่แล้วก็นำดินใส่ลงไปในพิมพ์ กดดินให้เต็มแม่พิมพ์ ปาดเอาดินส่วนเกินออกจากแม่พิมพ์ทิ้งไว้จนแห้งประมาณ 2-3 วัน แล้วนำแม่แบบมาเจาะรูก่อนที่จะผึ่งลมทิ้งไว้อีก 2-3 วัน จึงนำไปเผาจนสุก แล้วจึงนำไปใส่ในเตาตรงระดับที่กำหนดไว้ ใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบในอัตราดิน 1 ส่วน ขี้เถ้า 5 ส่วน ยาภายในเตารอบบริเวณที่รังผึ้งสัมผัสกับผนังเตา ทำทั้งด้านบนและด้านล่างก็จะได้เตาอั้งโล่พร้อมใช้งาน
ในอดีต เตาอั้งโล่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีความทนทานในการใช้งานและยังสะดวกเนื่องจากมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถพกพาไปได้ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการใช้เตาแก๊สแล้วก็ตาม แต่เตาอั้งโล่ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าการใช้เตาอั้งโล่ประกอบอาหารนั้นจะทำให้อาหารมีรสชาติที่ดีกว่าการใช้เตาแก๊ส รวมถึงการใช้งานในด้านอื่นๆ เช่นนำไปใช้สำหรับก่อไฟให้ความอบอุ่นบนยอดเขายอดดอย ทำให้ในปัจจุบัน มีการพัฒนาเตาอั้งโล่มาเป็นเตาซูเปอร์อั้งโล่ที่มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ดีกว่าเตาอั้งโล่มาใช้งานแทน