หวดเป็นภาชนะสานสำหรับนึ่งอาหารเช่น ข้าวเหนียว ผัก ถั่วงา โดยเฉพาะข้าวเหนียวจะนิยมนึ่งด้วยหวดเป็นส่วนใหญ่ มีรูปทรงคล้ายกรวย ก้นสอบ ปากผาย มักสานด้วยตอกไม้ไผ่โดยสานทึบตลอดทั้งใบ
การทำหวดนึ่งข้าว เริ่มจากการตัดไม้ไผ่โดยใช้ไม้ไผ่บ้านอายุประมาณ 3 ปี เป็นไม้ไผ่ที่แก่พอดี ไม่หดตัว มีข้อยาวซึ่งจะทำให้ได้ตอกที่ไม่มีข้อตรงกลาง ใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ออกให้เป็นปล้องๆ โดยทิ้งส่วนที่เป็นข้อ ความยาวของไม้ไผ่ที่เลื่อยขึ้นอยู่กับขนาดของหวดที่ต้องการ ถ้าสานหวดใหญ่จะตัดไม้ให้ยาว 35 นิ้ว หวดขนาดกลาง 30 นิ้ว หวดขนาดเล็ก 25 นิ้ว เป็นต้น ใช้พร้าผ่าไม้ไผ่เป็นซีก หากทำหวดขนาดใหญ่ ให้ซีกไม้ไผ่กว้าง 0.8 เซนติเมตร หวดขนาดกลางกว้าง 0.6 เซนติเมตร หวดขนาดเล็กกว้าง 0.5 เซนติเมตร เหลาซีกไม้ไผ่เพื่อลบคมของซีกไม้ตรงกลางออกแล้วเหลาหัวท้ายของซีกไม้ให้เรียวลง เรียกว่าการจักส่วยตอก แล้วจึงทำการจักตอก คือการเอาส่วนที่เป็นเนื้อไม้และเปลือกไม้ไผ่แยกออกจากกัน ซีกหนึ่งจะจักเป็นตอกได้ประมาณ 8-10 เส้น นำเส้นตอกที่จักเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้งเป็นเวลา 2-3 วัน เมื่อได้ที่แล้วมัดตอกเป็นมัดๆ ตามความยาวของเส้นตอกแต่ละขนาด จากนั้นจึงเริ่มนำเส้นตอกมาสานหวด โดยเริ่มต้นจากการสานส่วนที่เป็นก้นหวดก่อน วางเส้นตอกในแนวตั้ง 4 เส้น แนวนอน 8 เส้น สานขัดเป็นลาย 3 เริ่มจากจุดกึ่งกลาง สานไปข้างละ 13 ขัด การสานจะนับเป็นบี คือการนับช่วงลายตอกในระหว่างการสานที่มีการยกตอกขึ้น 3 เส้นและสานทับเส้นตอก 3 เส้น ในแต่ละบีจะมีเส้นตอกอยู่สามเส้น เมื่อสานก้นหวดได้ตามขนาดที่ต้องการแล้วจึงทำการหักมุมเป็น 2 มุม แล้วจึงทำการไป่หวด คือการสานเปลี่ยนลายจากลายของส่วนก้นหวดเป็นลายตัวหวด ซึ่งจะเป็นช่วงของการกำหนดขนาดของหวดให้ได้ขนาดตามต้องการด้วยการยกตอก 3 เส้นขึ้นแล้วคว่ำตอก 3 เส้นลง แต่ก็ไม่เป็นวิธีการตายตัว ขึ้นอยู่กับทักษะและความถนัดของผู้สาน ต่อจากการไป่หวดคือการใส่ลายตัวหวดซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือขนาดของหวด ส่วนมากนิยมใช้เส้นตอก จำนวน 10 เส้น จะได้หวดที่มีขนาดพอดี ในขณะที่กำลังสานหวดในขั้นตอนนี้ควรพรมน้ำเป็นระยะเพื่อให้เส้นตอกมีความอ่อนตัว นุ่ม สานง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์หวดไม้ไผ่ที่มีความแน่นแข็งแรงและคงทน หลังจากที่ทำตัวหวดจนได้ขนาดและความสูงตามที่ต้องการแล้ว ขั้นต่อไปคือการใส่ไพกาวหวด คือการทำขอบหวดด้านบนให้แข็งแรง ลักษณะของเส้นตอกที่นำมาสานไพกาวมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ กลมๆ โดยผู้สานจะจักตอกให้มีลักษณะกลมเรียบเนียนเส้นเล็กๆ หวดหนึ่งใบจะใช้ตอกชนิดนี้ประมาณ 6 เส้นมาสานแบบยก 3 คว่ำ 3 ไปเรื่อยๆ จนรอบตัวหวดเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นตอกที่สานตัวหวดหลุดออกจากกันได้ง่าย เพิ่มความแข็งแรงให้และความสวยงามให้กับหวด ขั้นตอนสุดท้ายคือการม้วนหวดโดยตัดเส้นตอกที่ยาวเกินไปทิ้ง แล้วจึงม้วนเก็บส่วนของเส้นตอกที่ยังคงเหลือจากการสานตัวหวด ให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามของหวด และป้องกันเสี้ยนไม้หรือความคมของปลายตอกแก่ผู้ใช้งาน
ในการนึ่ง ให้นำสิ่งที่ต้องการจะนึ่งใส่ไว้ในหวด ถ้าเป็นข้าวเหนียวต้องซาวน้ำให้เมล็ดข้าวสะอาดแล้วใส่ไว้ในหวด ปล่อยให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงนำหวดไปวางบนปากหม้อซึ่งมีน้ำอยู่ประมาณไม่ให้น้ำจรดก้นหวด ใช้ใบตองหรือผ้าขาวบางปิดปากหวด จากนั้นจึงตั้งไฟจนน้ำเดือด ไอน้ำจะระเหยเข้าไปตามช่องว่างระหว่างรอยสานของตอก ทำให้ความร้อนระอุอยู่ภายในจนของที่ต้องการจะนึ่งสุก หวดที่สานด้วยตอกไม้ไผ่จะมีช่องว่างระหว่างรอยสานของตอกจะทำให้ไอน้ำระเหยเข้าและออกได้ จึงเกิดการถ่ายเทไอร้อนหมุนเวียนทำให้สิ่งที่อยู่ภายในสุกทั่วกันโดยไม่แฉะหรือมีน้ำเข้าไปภายใน
ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพัฒนาหวดนึ่งข้าวให้มีรูปทรงที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้ ด้วยข้อดีดั้งเดิมของหวดที่จะทำให้ข้าวเหนียวหอมกลิ่นไม้ไผ่ และยังช่วยดูดซับความชื้นทำให้ข้าวเหนียวไม่เปียกแฉะ เมื่อสามารถปรับปรุงหวดให้รองรับกับเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น