เบ็ดกบ



คำอธิบาย

เบ็ดกบเป็นเบ็ดชนิดเดียวกันกับเบ็ดปลานา  ชาวบ้านจะใช้ตกกบในช่วงฤดูฝน  ก่อนจะใช้ตกปลานา  กลางฤดูฝน  เบ็ดกบจะเริ่มใช้ราวเดือนกรกฎาคม  ระยะปักดำเสร็จแล้วใหม่ๆ  ใช้ไส้เดือนเป็นเหยื่อวาง ตกได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
         

เมื่อฝนแรกตกหนัก  กบจะออกจากที่หลบซ่อน  เพื่อผสมพันธุ์  วางไข่  ไข่กบจะแผ่กระจายออกเป็นผืนย่อมๆ  ทั่วไปตามผิวน้ำ  จากนั้นก็จะฟักเป็นตัวอ่อน  แล้วกลายเป็นลูกอ๊อด  อาศัยอาหารกินในน้ำ  ต่อมาค่อยๆ  เปลี่ยนกลายเป็นลูกกบ  หากินบนบกตามพุ่มไม้กอหญ้าบริเวณท้องทุ่งนาที่ยังไม่ไถหว่าน  และเมื่อถึงระยะฝน  มีน้ำพอไถ  หว่าน  ปัก  ดำ  กบก็เริ่มตัวใหญ่ขึ้นจะเข้ามาหากินในแปลงนาข้าว ชาวบ้านจะออกวางเบ็ดกบ  โดยใช้ไส้เดือนตัวเป็นๆ  เกี่ยวกับตัวเบ็ด  ปล่อยให้ปลายไส้เดือนโผล่พ้นจากคมเบ็ด  ประมาณ 2-3 เซนติเมตร  วางคันเบ็ดประมาณ 10-30 คัน  ปักโคนเบ็ดลงริมคันนา  หย่อนเหยื่อไส้เดือนลงในริมแปลงนาที่ยังไม่มีน้ำลอยห่างจากพื้นดินประมาณ 3 เซนติเมตร  เพื่อป้องกันไม่ให้มดกัดไส้เดือน  แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ไส้เดือนเคลื่อนไหว  บิดตัวไปมาที่ปลายเชือก  กบชอบกินสิ่งที่มีชีวิต  เมื่อเห็นไส้เดือนบิดตัวเคลื่อนไหวไปมา  ก็จะกระโดดงับไส้เดือนทั้งตัว  รวมทั้งตัวเบ็ด  จึงติดเบ็ดทำให้ขาหน้าทั้งสองลอยยกขึ้น ขาหลังยืนขึ้นแต่ปลายเท้ายังคงติดพื้น  ก็ไม่มีพละกำลังที่จะกระโดดแบบปกติได้  เพราะไม่มีขาหน้าเป็นหลัก  ขาหลังก็ไม่มีกำลัง  ทำให้ตัวเองต้องเต้นผลุบ ๆ   ต่อสู้กับแรงสปริงของปลายคันเบ็ดไม้ไผ่  ดิ้นติดเบ็ด  หยองๆ  แหยงๆ อยู่บริเวณนั้นหากเจ้าของเบ็ดทิ้งไว้นานๆ งูกินปลาอาจเข้ามากินก่อนคนก็ได้