เป็นเครื่องมือหนีบเค้นลำต้นอ้อยให้น้ำอ้อยไหลออกมา โดยใช้วัว ควาย ดันลูกหีบให้หมุนและนำน้ำอ้อยไปเคี่ยว เพื่อใช้ปรุงอาหารคาวหวาน
เครื่องหีบอ้อยชนิดใช้แรงวัว ควาย ดันคันหมุนลูกหีบนี้ จะใช้หีบต้นอ้อยจำนวนมากโดยเก็บน้ำอ้อยไว้กินตลอดปี ปกติหีบปีละครั้งเท่านั้น เครื่องหีบอ้อยที่ใช้ในหมู่บ้านมักมี 2 ประเภท คือ เครื่องหีบพูเกลียว และเครื่องหีบพูทอย
เครื่องหีบพูเกลียว จะมีหีบไม้ 3 ท่อน ขนาดเล็กกว่าหีบพูเกือบครึ่งนึง ลูกหีบแกะหรือถากเป็นลูกเกลียว ลูกหีบแต่ละท่อนมีเกลียวสลับกัน เพื่อเป็นฟันเฟืองหนีบลำต้นอ้อย เครื่องหีบพูเกลียวจะใช้วัวหรือควายดันหมุนคันหีบเพียงตัวเดียว บางครั้งใช้คนหมุนแทน
เครื่องหีบพูทอย ใช้ท่อนไม้ขนาดใหญ่สามท่อน สูงประมาณ 2-3 เมตร ถากเป็นลูกหีบ โดยทำที่หนีบอ้อยเป็นพู ไม้อีกท่อนวางชิดติดกัน จะขุดหรือแกะเว้าลึกลงไปให้ส่วนพูยื่นออกมากับส่วนเว้า หมุนประกบเข้าเฟืองกันพอดี ส่วนประกอบหีบอ้อยชนิดหีบพูเกลียวและหีบพูทอย มีแผ่นไม้เจาะรูครอบเข้าเดือยหลวมๆ กับลูกหีบ มีลูกหีบตรงกลางเป็นลูกหีบหลักสูงๆ กว่าลูกหีบท่อนอื่น ซึ่งปลายลูกหีบท่อนกลางจะเข้าเดือยกับไม้คานหมุน ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้คันชั่ง” ใช้ยึดกับแอกวัว ควายที่ใช้หมุนเครื่องหีบอ้อย ฐานรองลูกหีบจะทำรางไม้รองให้น้ำอ้อยไหลลงภาชนะได้สะดวก
ก่อนใช้เครื่องหีบอ้อยต้องตัดต้นอ้อย แกะใบเปลือกอ้อยออกแล้วใช้คน 2-3 คน ใส่ต้นอ้อยให้ลูกหีบหนีบ คนซึ่งนั่งด้านตรงข้ามกันจะตลบปลายอ้อยเข้าลูกหีบอีกท่อนหนีบต่อไป ลูกหีบจะหนีบต้นอ้อยจนแหลก น้ำอ้อยจะไหลตามร่องไม้รองลงภาชนะใส่น้ำอ้อย นำน้ำอ้อยไปเครี่ยวในกระทะจนเหนียวมีสีเหลือง จึงเทใส่ภาชนะเก็บไว้หรือเทลงแบบพิมพ์ไม้ หรือเทบนผ้ามุ้งซึ่งมีจานรอง เป็นต้น ถ้าทำน้ำอ้อยเป็นงบแล้วจะใช้ใบอ้อยหรือใบตองห่อเก็บไว้รับประทานนานๆ
การใช้เครื่องหีบอ้อยชนิดพูเกลียวและพูทอย ไม่ค่อยมีใช้ เพราะมีการตั้งโรงงานทำน้ำตาลขึ้นในเขตใกล้เคียงกับการปลูกอ้อยโดยเฉพาะ หากมีเครื่องหีบอ้อยอยู่บ้าง มักใช้รถไถนาชนิดคนเดินตามหมุนคันหีบอ้อยแทนวัว ควาย