เปี้ยดเป็นภาชนะท้องถิ่นภาคเหนือ สานด้วยตอกไม้ไผ่คล้ายกระบุงของภาคกลาง แต่เตี้ยและป้อมกว่า ปากกลม ก้นสอบเข้าหากันเป็นสี่เหลี่ยม มีหูสำหรับหาบ มักทำเป็นคู่ๆ สำหรับหาบเมล็ดถั่ว งา และพืชผลต่างๆ มี 2 ชนิด คือ ชนิดมีขอบที่ปากเรียก เปี้ยดอ้อบ ชนิดไม่มีขอบที่ปากเรียก เปี้ยดแบน
โดยทั่วไปเปี้ยดแบ่งออกเป็นสามขนาด คือ เปี้ยดหลวง ขนาดใหญ่ใช้หาบข้าวเปลือก จุ 3 ถัง เปี้ยดฮาม ขนาดกลางจุ 2 ถัง และเปี้ยดน้อย ขนาดจุ 1 ถัง ใช้ใส่ของเล็กๆ น้อย
รูปทรงของเปี้ยดในบางท้องถิ่นจะต่างไปบ้างตามลักษณะการใช้สอยและความนิยมของท้องถิ่น เช่น เปี้ยดเมืองแพร่ น่าน มักไม่มีขอบ แต่จะเก็บของปากด้วยตอกในตัว ทำให้ขอบปากไม่แข็ง บางทีเรียก บุงตีบ เปี้ยดบางชนิดสานอย่างปราณีตเพื่อความคงทน แล้วทาเคลือบด้วยน้ำมันยางจนผิวเป็นมันงดงาม
เปี้ยด บางถิ่นเรียก เบี้ยด เพียด หรือกระบุงกลม