วีข้าว



คำอธิบาย

วี หรือกาวี เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวนา สำหรับใช้พัดโบก เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกลีบไม่มีเมล็ด น้ำหนักเบา ซึ่งเรียกว่า ขี้ลีบ รวมทั้งเศษผงเศษฟางต่างๆ ให้แยกออกจากเมล็ดข้าวเปลือกที่ดี โดยใช้แรงคนพัดโบกขณะสาดข้าวหรือซัดข้าวขึ้นไปในอากาศก่อนที่จะมีการใช้วี ชาวนาจะใช้ใบตาลตกแต่งก้านใบให้เรียบร้อยเพื่อใช้เป็นพัดโบก ต่อมาใช้กระด้งสำหรับฝัดข้าวมาพัดกันหลายๆ คนเพื่อให้เกิดแรงลม วีมีรูปร่างคล้ายพัด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร มีขอบคล้ายกระด้ง

วิธีการสานวี จะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่ โดยเริ่มสานจากตรงกลางขยายออกไปรอบนอกจนมีขนาดตามต้องการ ส่วนใหญ่นิยมสานใบวีเป็นรูปวงรีและวงกลม ลายสานมักเป็นลายขัดทึบ ริมขอบวีจะเก็บริม โดยทำขอบไม้ไผ่ ใช้เส้นหวายถักขอบยึดให้แน่น ตรงกลางวีมีไม้ไผ่ขวาง วางทาบในบริเวณเส้นผ่าศูนย์กลางของวี วางทาบทั้งสองด้าน คือด้านหน้าและด้านหลัง ใช้เส้นหวายร้อยมัดไม้ทั้ง 2 ด้าน ยึดติดกัน ทำให้วีมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ใช้ลำไม้ไผ่ขนาดมือกำรอบทำเป็นด้าม โดยการวางทาบจากขอบบนสุดของวี จนเลยสุดขอบล่างออกมาอีกประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งทำเป็นด้ามจับวีด้วยใช้เส้นหวายร้อยถักยึดลำไม้ไผ่ที่เป็นด้ามนั้น

วิธีใช้ เมื่อชาวนานวดข้าวเสร็จแล้วเมล็ดข้าวเปลือกจะร่วงจากรวงข้าวกองอยู่ที่ลาน ใช้ไม้คันฉายสงฟางออกให้หมดแล้วใช้ไม้กะโห้หรือสัดทาชักลากเมล็ดข้าวเปลือกให้มากองรวมกัน ใช้พลั่วตักเมล็ดข้าวเปลือกสาดขึ้นไปในอากาศ ชาวนาที่ยืนรายรอบถือวีอยู่นั้นจะโบกวีไปมาทำให้เกิดลม เรียกว่า การรำวี เมล็ดข้าวเปลือกหรือเศษผงเศษฟางต่างๆ จะลอยไปตามแรงลม เมล็ดข้าวเปลือกที่ดีมีน้ำหนักจะร่วงตกลงมากองที่ลาน
การสาดข้าวหรือซัดข้าว ชาวนาจะเลือกในระยะเวลาลมพัด โดยฟังสัญญานเสียงจากกังหันลม เพราะหากใช้แรงลมพัดตามธรรมชาติ ทำให้ไม่เหนื่อยต่อการใช้แรงพัดโบกวี

ปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องวีแบบใบพัดหมุน โดยใช้แรงคนหรือเครื่องจักรหมุนแทน ฉะนั้นการใช้วีพัดโบกด้วยแรงคนแบบดั้งเดิมจึงไม่นิยมกันแล้ว
วี บางแห่งเรียกก๋า หรือก๋าวี