ไม้นวดข้าว หรือบางที่เรียกว่าไม้ตีข้าว ไม้ทุบข้าว ไม้หนีบ หรือไม้หีบ เป็นเครื่องมือของชาวนาใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเพื่อทุบหรือตีรวงข้าวที่มัดอยู่ในฟ่อนให้เมล็ดข้าวกระเด็นออกมาจากรวง
ไม้นวดข้าวทำจากไม้ไผ่ที่มีเนื้อแน่น ไม้แก่จัด ข้อสั้น ลำต้นเล็ก มีขนาดพอดีมือ กำได้รอบ อาจะใช้ไม้อื่นเช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ชิงชันหรือไม้สัก การทำไม้นวดข้าวเริ่มจากการตัดไม้มา 2 ท่อนให้มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร เหลาไม้ให้เรียบ หากใช้ไม้จริงต้องใช้กบไสแล้วใช้บุ้งถูให้เรียบ เจาะรูที่ปลายไม้ทั้ง 2 ท่อน ห่างจากปลายไม้ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกหนังที่เรียกว่าหนังหัวเกวียน หรือใช้เชือกยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หรือให้ยาวประมาณเส้นรอบวงของฟ่อนข้าว ร้อยรูไม้ที่เจาะทั้ง 2 ท่อนแล้วขมวดปมที่ส่วนปลายเชือก
ก่อนการนวดหรือฟาดข้าว ชาวนาจะไปขนจ้าวจากที่ตากแดดอยู่ หรือเอาออกจากกองข้าวมาวางที่ตาราง โดยเรียกขั้นตอนนี้ว่า "ลอมข้าว" การลอมข้าวนี้บางคนจะเอาข้าวเฟ่ามาวางซ้อนกันเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมรอบตาราง โดยเว้นช่องว่างให้คนสามารถเข้า-ออกตารางได้ ต่อจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าวซึ่งเรียกว่าการฟาดข้าว หรือ ตีข้าว หรือ บุบข้าว หรือ ย่ำข้าว ในอดีตนั้นจะนิยมทำในเวลากลางคืน เนื่องจากในช่วงกลางวัน ชาวนาจะต้องไปตอบแทนแรงงานผู้อื่นซึ่งมาช่วยงานในไร่นาของตน จึงมีเวลาทำการฟาดข้าวในเวลากลางคืน
ในการใช้งานไม้นวดข้าว ชาวนาจะจับไม้นวดข้าวทั้งสอง ใช้เชือกคล้องกับฟ่อน เคน็ดข้าว หรือตรงส่วนที่ใช้ตอกรัดฟ่อนข้าว แล้วไขว้ไม้นวดข้าวในลักษณะที่ขัดกันเพื่อรัดฟ่อนข้าวให้แน่น แล้วจึงยกฟ่อนข้าวขึ้นฟาดกับท่อนไม้ที่วางไว้จนเมล็ดข้าวเปลือกจะร่วงออกจากรวง โดยจะทุบในลานข้าว ในเสื่อ หรือในผืนผ้าใบที่ปูพื้นกว้างๆ
มีอุปกรณ์อื่นที่มีการใช้งานคล้ายคลึงกับไม้นวดข้าว เรียกว่าไม้ควง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับไม้นวดข้าว แต่มีขนาดที่แตกต่างกันไป ใช้สำหรับทุบหรือตีฝักถั่วเขียว ฝักถั่วเหลือง ฝักถั่วดำ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้การใช้ไม้นวดข้าวไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้งานแทนเช่นรถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์หรือเครื่องนวดข้าวที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ซึ่งสะดวกสบายและประหยัดแรงงานกว่า