จ่อเลี้ยงไหม



คำอธิบาย

จ่อ หรือ กระจ่อ เป็นภาชนะสานใช้สำหรับเลี้ยงตัวไหม มีรูปทรงคล้ายกระด้งแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 180 เซนติเมตร สิ่งที่มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากกระด้งทั่วไปคือ ภายในจ่อจะมีซี่ไม้ขดเป็นวงก้นหอยหรือทำเป็นวงกลมซ้อนกันหลายๆ วงจากขอบเข้าไปหาศูนย์กลางจนเต็ม ภายในวงจะมีช่องว่างให้สำหรับหนอนไหมเกาะเพื่อให้ตัวไหมขยายตัวและชักใยเป็นเส้นไหมหุ้มตัวเป็นรังไหมได้เต็มที่

การสานจ่อ จะใช้วัสดุคล้ายคลึงกับการสานกระด้งโดยใช้ไม้ไผ่บ้าน ไม้ไผ่บง และไผ่ด้ามขวาม โดยเหลาไม้ไผ่บ้านทำเป็นตอกแบน มาสานลายสอง ให้เป็นแผ่นกว้างให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้วนำมาประกบกบขอบที่ทำจากไม้ไผ่ด้ามขวาน ใช้เชือกมัดเชื่อมตลอดขอบจ่อ จากขึ้นจึงขึ้นโครงซี่ไม้ขดบนจ่อด้วยไม้ไผ่ให้มีช่อง โดยใช้ติวไม้ไผ่ (หมายถึงผิวหรือเปลือกนอกของไม้ไผ่) ขดเป็นวงกลม แล้วใช้ตอกแบนสานแล้วจึงนำไปวางและมัดติดลงในจ่อ

การเก็บไหมเพื่อใส่ลงในจ่อนั้น ชาวบ้านจะเลือกหนอนไหมที่เรียกว่า "ไหมสุก" คือเป็นหนอนไหมที่ตัวออกสีเหลืองออกมาจากกระด้งเลี้ยงไหมด้วยมือมาใส่ไว้ในจ่อ ปริมาณหนอนไหมต่อจ่อจะต้องมีความเหมาะสม ไม่ใส่หนอนไหมจนแน่นจ่อเกินไป เพราะจะทำให้เกิดรังแฝด ซึ่งจะเป็นรังเสีย จากนั้นให้หนอนไหมได้พักอยู่จนกระทั่งเข้าฝักและสานใยหุ้มตัวเองใช้เวลาประมาณ 2 วัน เมื่อสร้างใยเสร็จจะเกิดเป็นรังไหมมีรูปทรงคล้ายไข่สีเหลืองเกาะอยู่เต็มจ่อ จากนั้นจึงทำการเก็บรังไหมออกจากจ่อ แล้วนำไปต้มเพื่อสาวเส้นใยไหมก่อนจะนำไปฟอก ย้อม และถักทอเป็นผ้าไหม

จ่อเป็นภาชนะที่มีใช้ในหมู่ผู้ที่เลี้ยงไหมทั่วไป จัดเป็นอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีการทำจ่อจากวัสดุอื่นๆ เช่นฟางข้าว พลาสติก ลวดและกระดาษ ซึ่งมีรูปลักษณ์ต่างไปจากจ่อสาน แต่ก็ยังคงมีการสานจ่อเพื่อขายให้กับผู้เลี้ยงไหมอยู่ในปัจจุบัน